ภาพกิจกรรม
การควบคุมป้องกันไข้เลือดออก อำเภอนาบอน
142
4 กันยายน 2556

สารจากสาธารณสุขอำเภอนาบอน

นายสุธรรม บำรุงภักดิ์

        "ด้วยระยะนี้มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกในทุกพื้นที่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช จากข้อมูลทางระบาดวิทยา พบว่า นับตั้งแต่วันที่  1 มกราคม 2556 ถึงวันที่  1 กรกฎาคม 2556    สสจ.นครศรีธรรมราช  ได้รับรายงานผู้ป่วยโรค  ไข้เลือดออกรวม(DHF,DSS,DF)  จำนวนทั้งสิ้น 2722 ราย  คิดเป็นอัตราป่วย   177.34  ต่อประชากรแสนคน มีรายงาน ผู้เสียชีวิต 3  ราย (อ.สิชล,อ.ท่าศาลา,อ.เมือง) อัตราตายต่อประชากรแสนคน เท่ากับ 0.20   อัตราผู้ป่วยตายเท่ากับร้อยละ  0.11 พบผู้ป่วยเพศหญิงใกล้เคียงเพศชาย  โดยพบเพศหญิง1390  ราย  เพศชาย 1332  ราย  อัตราส่วนเพศหญิงต่อเพศชาย  เท่ากับ  1.04 : 1  สำหรับอำเภอนาบอน ณ เดือนสิงหาคม 2556  มีผู้ป่วย จำนวน 128  คน คิดเป็น 475.89 ต่อแสนประชากร อำเภอนาบอนได้ดำเนินการควบคุมป้องกันโรค ตามมาตรการเร่งรัดการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก กระทรวงสาธารณสุข  ดังนี้

            1.              จัดเตรียมความพร้อมของทีมแพทย์โรงพยาบาล แนวทางการรักษา จัดประชุมพัฒนาองค์ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

2.              จัด dengue corner ใน รพ.นาบอน  เพื่อเฝ้าระวังโรคและ ให้คำแนะนำ

3.              จัดการรายงานโรคจากโรงพยาบาล รายงานประสานการควบคุมโรคกับสาธารณสุขอำเภอ และส่งข้อมูลให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทันเวลา

4.              จัด War Room  โดยมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน  ประสานองค์ความรู้และทำงานร่วมกัน โดยมีศูนย์ดำเนินงานระดับอำเภอ

5.             การควบคุมพาหะในโรงพยาบาล ค่า CI = 0  ไม่ให้ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุง  

6.             ประสานงานโรงเรียน ให้ความรู้และคำแนะนำ   หน้าเสาธง  มอบนักเรียนช่วยสำรวจลูกน้ำยุงลาย และรณรงค์ทำ Big Cleaning  Day

โรคไข้เลือดออกที่พบในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ จึงเรียกชื่อว่าเดงกี่ฮีโม ราจิคฟีเวอร์ ( Dengue Haemorrhagic Fever, DHF) ซึ่งไวรัสเดงกี่นี้มี 4 ชนิด และมีภูมิคุ้มกัน ของกลุ่มบางชนิดร่วมกัน เมื่อมีการติดเชื้อชนิดใดชนิดหนึ่งแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสนั้นอย่างถาวรตลอดชีวิต แต่จะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเดงกี่อีก 3 ชนิด ในช่วงระยะสั้นๆประมาณ 6-12 เดือน หรืออาจสั้นกว่านั้น ดังนั้นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มียุงลายชุกชุมอาจมีการติดเชื้อ 3 หรือ 4 ครั้งได้ 

            โรคไข้เลือดออกมักเกิดกับเด็กโตหรือผู้ใหญ่คือ ไข้เดงกี่ อาจมีอาการไม่รุนแรง มีอาการไข้ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก และมีผื่น บางรายอาจมีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีเม็ดเลือดขาวต่ำได้ ในผู้ใหญ่เมื่อหายจากเป็นโรคแล้วจะมีอาการต่อเนื่องอยู่ โดยทั่วไปแล้วไม่สามารถวินิจฉัยจากการตรวจเลือดได้ ต้องอาศัยการตรวจทางน้ำเหลือง

            ดังนั้นจึงขอความกรุณาให้ประชาชนช่วยกันดูแล ป้องกัน โรคไข้เลือดออก ด้วยตนเอง เดินหน้ารณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ตัดตอนวงจรชีวิตยุงลาย เน้นย้ำ มาตรการ “ 5 ป. 1 ข. ปราบยุงลาย ” ได้แก่ ปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับ ปฏิบัติ และขัดล้างไข่ยุงลาย โดยมีวิธีทำได้ง่าย ๆ คือ

- ป.1 ปิด ภาชนะขังน้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ 
- ป.2 เปลี่ยน น้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำ ทุก 7 วันที่ตรงกันทั้งชุมชนเพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง
- ป.3 ปล่อย ปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร 
- ป.4 ปรับปรุง สิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง โล่งสะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย 
- ป.5 ปฏิบัติ เป็นประจำจนเป็นนิสัย ต่อเนื่อง และสม่ำเสมอตลอดไป ไม่ต้องรอให้เจ้าหน้าที่มาดำเนินการ จะสามารถลดความเสี่ยงได้มาก
- 1ข. ขัดล้างไข่ยุงลาย ที่อาจติดอยู่กับภายในภาชนะต่าง ๆ ที่ใช้ใส่น้ำ เช่น อ่าง แจกัน กระถาง เพื่อกำจัดไข่ยุงลาย ซึ่งสามารถทนแล้งได้นาน เมื่อมีน้ำท่วมถึงก็แตกเป็นลูกน้ำอย่างรวดเร็วภายใน 20-60 นาที

            หากสงสัยบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ไข้สูงลอยสูง 39-40 องศาเซลเซียส นานเกิน 2 วัน ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึม เบื่ออาหาร หน้าแดง คอแดง ปวดศีรษะหรือปวดกระบอกตา อาจพบจุดเลือดที่ผิวหนัง กดเจ็บชายโครงด้านขวา มักไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ให้สงสัยเป็นไข้เลือดออก และโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง อย่างเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือผู้ใหญ่ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออก หากมีมีอาการตามข้างต้นให้รีบไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที จะทำให้ป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกได้ 

รู้ก่อน รู้ทัน ป้องกันได้ ด้วยความห่วงใยจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอนาบอน