Background



เกร็ดความรู้สู้โรค
รู้ทันผลิตภัณฑ์สุขภาพ
17 พฤษภาคม 2555

575


ในตอนนี้กระแสนิยม Health care product กำลังมาแรง ธุรกิจด้านนี้มีความตื่นตัวกันมากทำให้มีนักเศรษฐศาสตร์หลายท่านคาดการณ์ไว้ว่าจากนี้จนถึงอีก 10 ปี ข้างหน้า ธุรกิจผลิตภัณฑ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพจะเป็นธุรกิจที่เติบโตสร้างเม็ดเงินได้อย่างมากมายมหาศาล ด้วยแนวโน้มที่มาแรงของธุรกิจการดูแลสุขภาพนี่เอง ทำให้ผู้ประกอบการบางรายหาผลประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงผู้บริโภค โดยมีการนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และการให้บริการเพื่อสุขภาพมาทำการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าสามารถรักษาโรคได้ โดยมีการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารปลอมที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ และมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีราคาแพงเกินความเป็นจริง มีการให้บริการเสริมความงามเฉพาะทางซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พฤติกรรมของผู้ประกอบการเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคทั้งสิ้น ดังนั้นผู้บริโภคควรมีความรู้เท่าทันเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อ เลือกใช้ ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอดภัย และเหมาะสมกับตนเอง เพื่อป้องกันการเกิดความสูญเสียทรัพย์สินหรือ สูญเสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้องและสามารถรักษาสิทธิผู้บริโภคที่ตนเองพึงมีพึงได้ตามที่ควรจะเป็น

จากปัญหาการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคของผู้ประกอบการที่เห็นแก่ได้ หน่วยงานภาครัฐโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.กระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ดำเนินการสุ่มตรวจ จับกุม ดำเนินคดีกับผู้ประกอบการที่กระทำผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง และให้ความรู้สร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอดภัย เหมาะสม และคุ้มค่า แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ต่อให้หน่วยงานภาครัฐทำงานเชิงรุกสุ่มตรวจ จับกุม ผู้ประกอบการมากมายแค่ไหนก็ยังไม่สามารถควบคุมดูแลได้ทั่วถึง เนื่องจากว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพเป็นขุมทรัพย์ที่หอมหวาน ใครๆก็ต้องการได้ผลประโยชน์จากขุมทรัพย์ขุมนี้ ทั้งผู้ประกอบการที่สุจริต และ ผู้ประกอบการที่คิดไม่ซื่อ

     ดังนั้นผู้บริโภคควรเริ่มต้นจากตัวเอง โดยต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และมีความตระหนักในการเลือกซื้อ เลือกใช้ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งการรู้เท่าทันผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพที่คิดไม่ซื่อนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เริ่มต้นที่เราต้องสังเกตลักษณะการโฆษณาสรรพคุณ หากมีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อ้างรักษาโรคได้ครอบจักรวาล รักษาโรคหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน หายขาด ถ้าพบโฆษณาในรูปแบบนี้สันนิษฐานได้เลยว่าเป็นโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงแน่นอน

     นอกจากนี้ต้องสังเกตเลขขออนุญาตโฆษณาจากสื่อต่างๆ ที่มีการโฆษณา เช่น สื่อโทรทัศน์ การโฆษณาตามหน้าหนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ แผ่นพับ คู่มือสินค้า เอกสารประกอบการขายทางอินเตอร์เนต เป็นต้น แม้แต่การขายตรง โดยใช้บุคคลพูดปากต่อปากก็ควรต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าข้อความที่ผู้ขายเอ่ยตรงกับโฆษณานั้นได้รับเลขอนุญาตโฆษณาถูกต้องหรือไม่ ซึ่งลักษณะของเลขอนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มีตัว และ ตามมาด้วยเลขทะเบียน เช่น ฆอ.1234/2550 และที่สำคัญโปรดจำไว้ว่าโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทีเชื่อถือได้ ไม่ควรมีคำกล่าวอ้างว่า วิเศษ ดีเลิศ เด็ดขาด ยอด ศักดิ์สิทธิ์ มหัศจรรย์ ที่สุด อยู่ในโฆษณา ถ้าพบเห็น อย่าซื้อมารับประทานเด็ดขาด และสำหรับการเลือกใช้บริการเสริมความงามก็เช่นกัน ต้องดูลักษณะการโฆษณาว่าเป็นโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหรือเปล่า และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูแลหรือไม่ หากพบเห็นว่าเป็นการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และไม่มีแพทย์คอยดูแลโปรดอย่าใช้บริการ เพราะสิ่งทีได้มาจะไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่เสียไป และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

เพื่อเป็นการป้องกัน และช่วยกันสอดส่องดูแลผู้ประกอบการที่คิดไม่ซื่อ หากผู้บริโภคพบเห็นการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หรือการให้บริการของสถานเสริมความงามที่มีพฤติกรรมดูแลรักษา ที่ต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ดูแล แต่ไม่มีแพทย์ดำเนินการ ขอให้ผู้บริโภคแจ้งเบาะแสมาได้ที่

สสจ.นครศรีธรรมราช 075-343409 ต่อ 121

หรือ สายด่วน อย.1556 

ที่มา อย.Report ปีที่ 1 ฉบับที่ 9 ประจำเดือนมิถุนายน 2553