375
ตามนัย พระราชบัญญัติธง พ.ศ.2522 ประมวลกฎหมายอาญา ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติและธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2546 มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 พฤษภาคม 2546 และมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 29 กรกฎาคม 2546 ได้กำหนดข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติที่สำคัญ ดังนี้ 1.ขนาดและสีธงชาติ มีขนาดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้างแบ่งเป็น 5 แถบ ตลอดความยาวของผืนธง ตรงกลางเป็นแถบสีน้ำเงินแก่ กว้าง 2 ส่วน ต่อจากแถบสีน้ำเงินแก่ออกไปทั้งสองข้างเป็นแถบสีขาวกว้างข้างละ 1 ส่วน ต่อจากแถบสีขาวออกไปทั้งสองข้างเป็นแถบสีแดงกว้างข้างละ 1 ส่วน 2. การแสดงธงชาติ หมายความว่า การที่บุคคลหรือคณะบุคคลได้ทำหรือสร้างให้ปรากฏเป็นรูปร่างไม่ว่าจะเป็นวัตถุ รูป ภาพ หรือสสาร ที่มีลักษณะเป็นสีที่มีความหมายถึงธงชาติ หรือแถบสีธงชาติ 3. ลักษณะธงชาติที่นำมาใช้ ธงชาติที่จะนำมาใช้ ชัก หรือแสดง ต้องมีสภาพดีเรียบร้อย ไม่ขาดวิ่น และสีไม่ซีดจนเกินควร 4. ขนาดเสาธงและผืนธงชาติ เสาธงชาติจะมีขนาดสูง ต่ำ ใหญ่หรือเล็กเพียงไร ควรจะอยู่ ณ ที่ใด และจะใช้ผืนธงขนาดเท่าใดนั้น ให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม หรือผู้ปกครองสถานที่หรือเอกชนผู้ครอบครองอาคารสถานที่ จะพึงพิจารณาให้เหมาะสมเป็นสง่างามแก่อาคารสถานที่นั้นๆ 5. การประดับธงชาติและกำหนดเวลาชักธงชาติขึ้นและลง 5.1 เพื่อสร้างความรู้สึกนิยมและภาคภูมิใจในความเป็นชาติ อีกทั้งเป็นการเผยแพร่ธงชาติให้เป็นที่ปรากฏชินตาแก่ผู้พบเห็น คณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐประดับธงชาติไว้ในสถานที่อันควร ในบริเวณที่ทำการทุกวันและตลอดเวลา สำหรับภาคเอกชน และบ้านเรือนประชาชนโดยทั่วไปก็ให้อนุโลมดำเนินการไปในแนวทางเดียวกัน 5.2 นอกเหนือจากข้อ 5.1 ถ้าต้องมีการชักธงชาติขึ้นและลง ณ สถานที่ หรือบริเวณใด โดยปกติให้เป็นไปตามกำหนดเวลาดังต่อไปนี้ 5.3 สถานที่และยานพาหนะของฝ่ายทหาร การชักธงชาติขึ้นและลงให้ปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับของทหาร 5.4 เรือเดินทะเล การชักธงชาติขึ้นและลง ให้ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวเรือ 5.5 สถานที่ราชการพลเรือน ถ้าในบริเวณเดียวกันมีสถานที่ราชการหลายแห่งจะสมควรชักธงชาติ ณ ที่ใด ให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าหน่วยงานผู้ปกครองสถานที่นั้น ๆ 5.6 สถานที่ราชการฝ่ายพลเรือนที่ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐาน การชักธงชาติโดยการจัดตั้งเสาธงชาติต่างหากจากตัวอาคาร ให้ได้รับความเห็นชอบจากเลขาธิการพระราชวัง 5.7 สถาบันการศึกษาในสังกัดหรือในความควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการ ให้ชักธงชาติตามระเบียบที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด 5.8 เรือเดินในลำน้ำ ถ้าจะชักธงชาติให้ชักไว้ที่ท้ายเรือ 5.9 ที่สาธารณสถานและสถานที่ของเอกชน ถ้าจะชักธงชาติ ให้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีโดยอนุโลม 6. วิธีการชักธงชาติ 6.1 ผู้มีหน้าที่ชักธงชาติ ต้องแต่งกายเรียบร้อย 6.2 เมื่อใกล้กำหนดเวลาชักธงขึ้น ให้เตรียมธงชาติผูกติดกับสายเชือกทางด้านขวาของผู้ชักธงให้เรียบร้อย 6.3 เมื่อถึงกำหนดเวลา ให้คลี่ธงชาติออกเต็มผืน แล้วดึงเชือกให้ธงชาติขึ้นช้า ๆ ด้วยความสม่ำเสมอ จนถึงสุดยอดเสาธง แล้วจึงผูกเชือกไว้ให้ตึง ไม่ให้ธงลดต่ำลงมาจากเดิม 6.4 เมื่อชักธงลงให้ดึงเชือกให้ธงชาติลงช้า ๆ ด้วยความสม่ำเสมอ และสายเชือกตึงจนถึงระดับเดิมก่อนชักขึ้น 6.5 ในกรณีที่มีการบรรเลงเพลงเคารพหรือมีสัญญาณให้การชักธงขึ้นและลง จะต้องชักธงชาติขึ้นและลงให้ถึงจุดที่สุด พร้อมกับจบเพลงหรือสัญญาณนั้นๆ 7. วันพิธีสำคัญที่ต้องชักธงและประดับธงชาติ
นอกจากนี้สุดแต่ทางราชการจะประกาศให้ทราบเป็นครั้งคราว ส่วนงานพิธีอื่นๆ ตามประเพณีนิยม หากจะชักธงและประดับธงชาติก็ทำได้ แต่ต้องทำด้วยความเคารพ 8. การลดธงชาติครึ่งเสา การลดธงชาติครึ่งเสากรณีใด เป็นเวลาเท่าใด ทางราชการจะประกาศให้ทราบเป็นคราว ๆ ไป ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา การลดธงชาติครึ่งเสาจะกระทำในกรณีที่ประมุขหรือบุคคลสำคัญของประเทศต่างๆ เสียชีวิต โดยปกติทางราชการจะประกาศให้ลดธงชาติครึ่งเสาทั่วราชอาณาจักรเป็นเวลา 3 วัน การลดธงชาติครึ่งเสาให้ปฏิบัติการเหมือนการชักธงขึ้นเช่นปกติ แต่เมื่อธงถึงยอดเสาแล้วจึงลดลงให้อยู่ในระดับความสูงประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของความสูงของเสาธงนั้น และเมื่อจะชักธงลงให้ชักธงขึ้นจนถึงยอดเสาก่อน แล้วจึงชักธงลงเช่นเดียวกับเรื่องวิธีการชักธงชาติ 9. การทำความเคารพธงชาติ 9.1 เมื่อมีการชักธงชาติขึ้นและลง ให้แสดงความเคารพโดยการยืนตรง หันไปทางเสาธง อาคาร หรือสถานที่ที่มีการชักธงชาติขึ้นและลง จนกว่าจะเสร็จการ 9.2 ในกรณีที่ได้ยินเพลงชาติหรือสัญญาณการชักธงชาติ จะเห็นหรือไม่เห็นการชักธงชาติก็ตาม ให้แสดงความเคารพโดยหยุดนิ่งในอาการสำรวม จนกว่าการชักธงชาติหรือเสียงเพลงชาติ หรือสัญญาณการชักธงชาติจะสิ้นสุดลง 10. การดูแลรักษาธงชาติ 10.1 ให้หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานผู้ปกครองอาคารสถานที่ราชการหรือสถานที่ทำการของหน่วยงานของรัฐและเอกชนผู้ครอบครองอาคารสถานที่ที่มีการใช้ การชักหรือการแสดงธงชาติกวดขันดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบโดยเคร่งครัด 10.2 ให้เจ้าหน้าที่หรือบุคคลผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติเก็บรักษาธงชาติไว้ด้วยความเคารพในสถานที่และที่เก็บอันสมควร 10.3 การเชิญธงชาติจากที่เก็บรักษาเพื่อนำไปใช้ ชัก หรือแสดง ในกรณีที่ธงชาติเป็นผืนผ้าให้เชิญไปในสภาพที่พับเรียบร้อย และด้วยอาการเคารพเมื่อถึงทีที่จะใช้หรือแสดงจึงคลี่ธงออกเพื่อใช้หรือแสดงต่อไป 10.4 การเชิญธงชาติจากที่ที่ใช้ ชัก หรือแสดง ไปเก็บไว้ ณ ที่เก็บรักษา ให้ดำเนินการในลักษณะเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ 10.3 11. การประดับธงชาติคู่หรือร่วมกับธงอื่น 11.1 การประดับธงชาติคู่หรือร่วมกับธงอื่น ยกเว้นธงพระอิสริยยศจะต้องไม่ให้ธงชาติอยู่ในระดับต่ำกว่าธงอื่นๆ และโดยปกติให้จัดธงชาติอยู่ที่เสาธงแรกด้านขวา (เมื่อมองดูออกมาจากภายใน หรือจุดของสถานที่ที่ใช้ชัก แสดง หรือประดับธงเป็นหลัก) 11.2 การประดับธงชาติคู่กับธงอื่นในงานพิธีซึ่งมีแท่นหรือมีที่สำหรับประธาน ให้จัดธงชาติอยู่ด้านขวาของแท่นพิธีและธงอื่นอยู่ด้านซ้าย 11.3 การประดับธงชาติคู่กับธงอื่น เมื่อรวมกับธงชาติแล้วเป็นจำนวนคี่ ให้ธงชาติอยู่กลาง 11.4 การประดับธงชาติคู่กับธงอื่น เมื่อรวมกับธงชาติแล้วเป็นจำนวนคู่ ให้ธงชาติอยู่กลางด้านขวา 12. การประดับธงชาติคู่หรือร่วมกับพระพุทธรูปหรือพระบรมรูป การประดับธงชาติร่วมกับพระพุทธรูปและพระบรมรูปในพิธีการต่างๆ ให้จัดธงชาติอยู่ด้านขวาของพระพุทธรูป พระบรมรูปอยู่ด้านซ้าย 13. การประดับธงชาติคู่หรือร่วมกับธงของต่างประเทศ 13.1 การประดับธงชาติคู่หรือร่วมกับธงของต่างประเทศ จะต้องเป็นไปในลักษณะที่เท่าเทียมกัน เช่น ขนาดและสีของธง และความสูงต่ำของธง เป็นต้น 13.2 ถ้าประดับหรือชักธงของต่างประเทศประเทศเดียว ต้องให้ธงชาติอยู่ด้านขวาของธงต่างประเทศ 13.3 ถ้าประดับธงของต่างประเทศเกินกว่าหนึ่งประเทศ เมื่อรวมกับธงชาติแล้วเป็นจำนวนคี่ ให้ธงชาติอยู่ตรงกลาง 13.4 ถ้าประดับธงของต่างประเทศเกินกว่าหนึ่งประเทศ เมื่อรวมกับธงชาติแล้วเป็นจำนวนคู่ ให้ธงชาติอยู่กลางด้านขวา 13.5 การประดับธงชาติในสถานที่ หรือมีข้อตกลงระหว่างประเทศ หรือประเทศภาคีกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เช่น ให้ใช้เรียงตามลำดับอักษร หรือเรียงตามลำดับการเป็นสมาชิก ก็ให้ปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น 13.6 การประดับธงชาติในการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศ โดยปกติให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสมาคมกีฬาระหว่างประเทศ หรือตามหลักสากลที่ยอมรับกันในนานาอารยประเทศ 13.7 การประดับธงชาติคู่กับธงของต่างประเทศสำหรับรถยนต์ ให้ปักธงชาติไว้ทางด้านขวา และธงของต่างประเทศไว้ทางด้านซ้าย 13.8 ยานพาหนะอื่นให้ใช้ทำนองเดียวกับข้อ 13.7 เว้นแต่การประดับบนเรือให้เป็นไปตามธรรมเนียมประเพณีของชาวเรือ 14. การใช้ธงชาติกับผู้เสียชีวิต 14.1 การใช้ธงชาติประกอบเกียรติยศศพหรืออัฐิ ให้ใช้กับบุคคลดังต่อไปนี้ 14.2 บุคคลตามข้อ 14.1.1 – 14.1.4 ต้องเป็นผู้เสียชีวิตในขณะดำรงตำแหน่ง 15. การใช้ธงชาติคลุมศพ การใช้ธงชาติคลุมศพ ให้ใช้ในกรณี ดังนี้ 15.1 ในพิธีรับพระราชทานน้ำอาบศพหรือพิธีรดน้ำศพ 15.2 ในพิธีปลงศพตามประเพณีของทหารเรือ 15.3 ในระหว่างการเคลื่อนย้ายศพเพื่อประกอบพิธีทางศาสนา 16. การใช้ธงชาติคลุมหีบศพ หรืออัฐิ การใช้ธงชาติคลุมหีบศพหรืออัฐิ ให้ใช้ในกรณี ดังนี้ 16.1 เมื่อเชิญหรือเคลื่อนย้ายศพหรืออัฐิ เพื่อประกอบพิธีรับพระราชทานน้ำอาบศพ รดน้ำศพ หรือบำเพ็ญกุศลตามพิธีทางศาสนา 16.2 ในระหว่างการประกอบพิธีทางศาสนา 16.3 ในระหว่างการตั้งศพเพื่อรับพระราชทานเพลิงศพประกอบการฌาปนกิจ หรือเคลื่อนย้ายศพไปประกอบพิธีฝัง 17. วิธีการใช้ธงชาติคลุมศพหรือหีบศพ 17.1 ปกติให้ใช้คลุมตามความยาวของธง โดยให้ด้านต้นของผืนธงอยู่ทางส่วนศีรษะของศพ และจะต้องปฏิบัติไม่ให้เป็นการเสื่อมเสียเกียรติแก่ธงชาติ 17.2 ห้ามมิให้วางสิ่งหนึ่งสิ่งใดลงบนธงชาติที่คลุมศพหรือหีบศพ 17.3 เมื่อจะรับพระราชทานน้ำอาบศพ บรรจุหรือฝังศพ ประชุมเพลิงศพตอนเผาจริงให้เชิญธงชาติที่คลุมศพหรือหีบศพพับเก็บให้เรียบร้อย โดยมิให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของธงสัมผัสพื้น 17.4 ผู้ได้รับพระราชทานโกศหรือหีบหลวงประกอบเกียรติยศศพอยู่แล้ว ถ้ามีสิทธิใช้ธงชาติคลุมศพด้วย ให้กระทำได้โดยวิธีเชิญธงชาติในสภาพที่พับเรียบร้อยใส่พานตั้งไว้เป็นเกียรติยศ ที่หน้าที่ตั้งศพเช่นเดียวกับการตั้งเครื่องยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่ต้องไม่ต่ำกว่าเครื่องยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 17.5 ห้ามใช้ธงชาติหรือแถบสีธงชาติคลุมทับหรือตกแต่งโกศหรือหีบศพที่พระราชทานประกอบเกียรติยศศพ 18. การแสดงธงชาติที่สินค้า การแสดงธงชาติไว้ที่สิ่งบรรจุ หีบห่อ สิ่งหุ้มห่อ สิ่งผูกมัด ผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าใดๆ ที่มิได้มีลักษณะเป็นการเหยียดหยามต่อธงชาติ ประเทศไทยหรือชาติไทย ให้ทำได้ในกรณีดังต่อไปนี้ 18.1 เป็นการแสดงธงชาติที่กระทำโดยส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ 18.2 เป็นการแสดงธงชาติที่กระทำโดยเอกชน เพื่อประโยชน์ทางการพาณิชย์ โดยได้รับความเห็นชอบจากส่วนราชการที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพาณิชย์ หรือกระทรวงอุตสาหกรรมแล้วแต่กรณี โดยหลักเกณฑ์และวิธีการขอความเห็นชอบให้เป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์หรือกระทรวงอุตสาหกรรมประกาศกำหนด 18.3 เป็นการแสดงธงชาติที่กระทำโดยเอกชนในกรณีอื่นๆ ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการธงจะประกาศกำหนด 19. การกระทำอันเป็นการเหยียดหยามหรือไม่สมควรต่อธงชาติ 19.1 การกระทำอันเป็นการเหยียดหยามต่อธงชาติ ได้แก่ การกระทำต่อธงชาติรูปจำลองของธงชาติ หรือแถบสีธงชาติ ด้วยเจตนาเหยียดหยามประเทศชาติ เช่น ฉีกทำลาย ถ่มน้ำลายรด ใช้เท้าเหยียบ วางเป็นผ้าเช็ดเท้า ซึ่งเป็นการแสดงความดูถูกดูหมิ่นเหยียดหยามชาติไทย 19.2 การกระทำที่ไม่สมควรต่อธงชาติ รูปจำลองของธงชาติ หรือแถบสีธงชาติ เช่น 19.2.1 การประดิษฐ์รูป ตัวอักษร ตัวเลข หรือเครื่องหมายอื่นในผืนธงรูปจำลองของธง หรือแถบสีของธง 19.2.2 การใช้ ชัก หรือแสดงธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีของธงอันมีลักษณะตามข้อ 19.2.1 19.2.3 การใช้ ชัก หรือแสดงธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีของธงไว้ ณ สถานที่หรือวิธีอันไม่สมควร 19.2.4 การประดิษฐ์ธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีธงไว้ ณ ที่หรือสิ่งใดๆ โดยไม่สมควร 19.2.5 แสดงหรือใช้สิ่งใด ๆ ที่มีรูปธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีธงอันมีลักษณะตามข้อ 19.2.4 20. โทษ การกระทำการต่อธงชาติโดยไม่ให้ความเคารพ มีความผิดและต้องรับโทษตามกฎหมาย ดังนี้ 20.1 กระทำการใดๆ ต่อธง หรือเครื่องหมายอื่นใด อันมีความหมายถึงรัฐ เพื่อเหยียดหยามประเทศชาติ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 118 แห่งประมวลกฎหมายอาญา) 20.2 กระทำการใดๆ ที่ไม่สมควรต่อธงชาติ รูปจำลองของธงชาติ หรือแถบสีของธงชาติ ตามข้อ 19.2.1 – ข้อ 19.2.5 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ. ธง พ.ศ. 2522)
ข้อมูลจาก : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ |