Background



เกร็ดความรู้สู้โรค
ดันน้ำมันใช้ซ้ำเป็นวัตถุอันตราย แฉจากเพื่อนบ้านทะลักเข้าไทยเพียบ
1 พฤษภาคม 2555

618


ในงานแถลงข่าว "ยุทธศาสตร์จัดการน้ำมันทอดซ้ำ เพื่อป้องมะเร็งและความดันโลหิตสูงในคนไทย" จัดโดยแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นความปลอดภัยอาหาร การจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสมรรถภาพ กล่าวว่า จากข้อมูลการบริโภคอาหารของคนไทย พบว่าในแต่ละปีคนไทยบริโภคน้ำมันพืชกว่า 800,000 ตัน หรืออยู่ที่ 800 ล้านลิตร ในจำนวนนี้หมดไปกับอาหารเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีร้านค้าจำนวนมากที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำเหล่านี้ในการประกอบอาหารเพื่อจำหน่ายทั้งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะมีสารโพลาร์ (Polar compounds) ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และสารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic aromatic hydrocarbons ; PAHs) ที่เป็นสารก่อมะเร็ง พบได้ทั้งในน้ำมันทอดอาหารที่เสื่อมสภาพและในไอที่ระเหยขณะทอดอาหาร จึงมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง 

นอกจากนี้ ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ปี 2552 คนไทยมีอัตราป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงถึง 981.48 คนต่อประชากรแสนคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งโรคความดันโลหิตสูงมีความสัมพันธ์กับโรคระบบไหลเวียนโลหิต เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดหัวใจตีบ และเส้นเลือดสมอง เป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 4 ของคนไทย ส่วนโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนไทย มีอัตราป่วย 133.1 คนต่อประชากรแสนคน ภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา 

นพ.มงคลกล่าวต่ออีกว่า การผลิตน้ำมันไบโอดีเซลเป็นทางออกหนึ่ง แต่ที่ผ่านมามีการนำน้ำมันทอดซ้ำไปผลิตเป็นน้ำมันดีเซลเพื่อเป็นพลังงานทดแทนน้อยมาก ปีละไม่ถึง 400,000 ลิตร เนื่องจากมีข้อจำกัดทางด้านราคา มีพ่อค้าตัดราคา โดยออกเร่รับซื้อน้ำมันทอดซ้ำเพื่อนำไปผ่านกรรมวิธีการกรอง เติมสารทำให้เกิดความใส และนำกลับมาจำหน่ายให้กับร้านค้าเพื่อประกอบอาหารใหม่ หรือที่เรียกว่า "น้ำมันลูกหมู" ซึ่งน้ำมันเหล่านี้ยังคงมีสารตกค้างที่เป็นอันตรายอยู่ ไม่สามารถกรองออกไปได้ และนอกจากน้ำมันทอดซ้ำในประเทศแล้ว ยังมีปัญหาน้ำมันทอดซ้ำนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีกฎหมายห้ามใช้น้ำมันทอดซ้ำ และสนับสนุนน้ำมันให้กับผู้ค้าลิตรละ 10 บาท เพื่อไม่ให้ใช้ซ้ำ ส่งผลให้น้ำมันที่ใช้แล้วถูกส่งเข้ามาขายที่ประเทศไทยแทน 

ในการแก้ไขปัญหา นพ.มงคลกล่าวว่า นอกจากการรณรงค์แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำอย่างต่อเนื่อง แต่ยอมรับว่าไม่ได้ผลเท่าที่ควร ดังนั้นจึงควรออกกฎหมายกำหนดให้น้ำมันทอดซ้ำเป็นวัตถุอันตราย ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2525 เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุม การรับซื้อและจำหน่าย รวมถึงห้ามนำเข้า เนื่องจากปัจจุบันเรายังไม่มีกฎหมายควบคุม 

ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ผู้ช่วยอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ ส่วนหนึ่งนอกจากถูกนำไปใส่ในเส้นก๋วยเตี๋ยว ทำน้ำมันลูกหมูแล้ว ยังถูกเททิ้งลงท่อระบายน้ำที่สร้างปัญหาะสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าวิตกขณะนี้คือเราพบว่ามีการขายเครื่องฟอกน้ำมันทอดซ้ำผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งเดิมเป็นการขายผ่านทางเว็บไซต์ของจีน แต่จากการติดตามพบว่าขณะนี้มีการจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ของไทยด้วย ราคาอยู่ที่เครื่องละ 98,000 บาท กรองน้ำมันได้ครั้งละ 100-200 ลิตร ให้ดูใสเพื่อนำกลับมาจำหน่ายใหม่ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพมาก และที่ผ่านมาตนได้เข้าพบกับนายจิรชัย มูลทองโร่ย รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อขอให้ยับยั้งการขายเครื่องดังกล่าวในไทย แต่ไม่มีกฎหมายควบคุมไปถึง
แหล่งข่าวโดย » ไทยโพสต์(1 กพ.55)