เกร็ดความรู้สู้โรค
สธ. ห่วงฤดูระบาดโรค มือ เท้า ปาก
12 กรกฎาคม 2555

207


สธ. ห่วงฤดูระบาดโรค มือ เท้า ปาก แนะนำศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนที่มีผู้ป่วยในห้องเกิน 2 คนให้ปิดห้องเรียน หากพบกระจายในห้องต่างๆเกิน 5 ห้องเรียนให้ปิดสถานศึกษาทำความสะอาดทันที


นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความเป็นห่วงสุขภาพและความปลอดภัยของเด็กเล็กจากโรคมือ เท้า ปาก โดยเฉพาะในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนต่างๆทั่วประเทศ  ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงฤดูฝน อากาศเย็นและชื้น เป็นฤดูกาลระบาดของโรคมือเท้าปาก และมักพบในเด็กเล็ก ขณะนี้มีรายงานหลายจังหวัดเริ่มป่วยประปราย รวมถึงสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านที่พบเด็กเล็กเสียชีวิตจากโรคนี้ด้วย ดังนั้น จึงได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งทั่วประเทศมีประมาณ 20,000แห่ง รวมทั้งโรงเรียนระดับอนุบาล เนื่องจากเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก หากมีเด็กป่วยจะแพร่เชื้อติดกันได้ง่าย โดยหากพบผู้ป่วยในพื้นที่ ขอให้สอบสวนโรคและควบคุมป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาดทันที

กระทรวงสาธารณสุข ขอความร่วมมือครูและผู้ดูแลศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ หากพบเด็กป่วย มีไข้ มีแผลเปื่อยหลายแผลในปากและเจ็บ มีตุ่มพองขนาดเล็กขึ้นที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้ เพื่อให้การดูแลเด็กอย่างถูกวิธีและควบคุมโรคอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรค ดำเนินการในด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคที่อาจจะเกิดขึ้นตามสถานศึกษาต่างๆ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง ครู และผู้ดูแลเด็กให้ทราบถึงอาการและวิธีป้องกันโรคดังกล่าว

บ่ายวันนี้ (10 กรกฎาคม 2555) ที่กรมควบคุมโรค  ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีโรคมือ เท้า ปาก ว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคมือ เท้า ปากในเด็กเล็กของประเทศกัมพูชา ซึ่งพบว่าเป็นชนิดรุนแรง และเป็นสาเหตุให้เด็กเสียชีวิต  สำหรับในไทยนั้น เป็นเชื้อชนิดที่ไม่รุนแรง แต่บางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ แม้ว่าแนวโน้มการระบาดจะมากกว่าปีที่ผ่านมาแต่การป่วยเป็นแบบกระจายตัวไม่มีการระบาดเป็นกลุ่มใหญ่และความรุนแรงของโรคน้อย เห็นได้จากสถานการณ์ในปีนี้ที่มีผู้ป่วยกว่าหมื่นราย แต่ไม่มีคนเสียชีวิตเลย อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรค เฝ้าระวังและควบคุมโรคอย่างใกล้ชิด ทั้งศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนระดับอนุบาล พร้อมเตรียมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว(SRRT)ทั้งส่วนกลางและสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12เขตทั่วประเทศ ลงพื้นที่เพื่อควบคุมโรคในทันที และรณรงค์ให้ผู้ปกครอง ครู และผู้ดูแลเด็กเล็กให้ทราบถึงอาการของโรค วิธีป้องกันและการทำความสะอาดที่ถูกวิธีด้วย

ข้อแนะนำสำหรับสถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาล ซึ่งมีเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5ปี มาอยู่รวมกันจำนวนมาก และมีโอกาสเกิดการติดเชื้อได้  ผู้ที่ดูแลเด็กต้องคอยสังเกตอาการของโรคมือ เท้า ปาก ดังนี้ หลังจากได้รับเชื้อ 3-6 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการป่วย เริ่มด้วยการมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมาอีก 1–2 วัน จะมีอาการเจ็บปาก กลืนน้ำลายไม่ได้และไม่ยอมทานอาหาร เนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม จะพบตุ่มหรือผื่นนูนสีแดงเล็ก(มักไม่คัน)ที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส บริเวณรอบๆ อักเสบและแดง ต่อมาตุ่มจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ ส่วนการติดต่อเกิดจากเชื้อเข้าสู่ปากโดยอาจติดจากมือที่ปนเปื้อน อุจจาระ น้ำลาย น้ำมูก น้ำในตุ่มพองหรือแผลของผู้ป่วย หรืออาจเกิดจากการไอจามรดกัน การติดต่อทางน้ำหรืออาหารมีโอกาสเกิดได้น้อย และโรคนี้ไม่ติดต่อโดยการหายใจ หากพบเด็กมีอาการป่วยต้องรีบแยกเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังเด็กคนอื่นๆ ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์และหยุดรักษาตัวที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ

ดร.นายแพทย์พรเทพ กล่าวต่อไปว่า หากพบว่ามีเด็กป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก ในห้องเรียนเกิน 2คนให้ปิดห้องเรียนนั้นแล้วทำความสะอาด หากพบผู้ป่วยในระดับชั้นเรียนเดียวกันเกิน 3คน ต้องปิดการเรียนการสอนทั้งระดับชั้น และหากพบผู้ป่วยกระจายในระดับชั้นเรียนต่างๆเกิน 5 ห้องเรียน จะต้องปิดสถานศึกษาชั่วคราว (ประมาณ 5-7 วัน) เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดกลุ่มใหญ่ ทั้งนี้ การสั่งปิดสถานศึกษาชั่วคราวเป็นอำนาจของผู้บริหารโรงเรียนนั้นๆ ไม่จำเป็นต้องแจ้งกรมควบคุมโรค  หลังจากนั้นควรทำความสะอาดโรงเรียนอย่างละเอียดทันทีเพื่อฆ่าเชื้อโรค โดยเฉพาะโต๊ะ เก้าอี้ ราวบันได โรงครัว ภาชนะใส่น้ำและอาหาร ห้องน้ำ ห้องส้วม เครื่องเล่นของเด็ก สนามเด็กเล่น โดยใช้ผงซักฟอกหรือสบู่ทำความสะอาดก่อน ตามด้วยน้ำยาฟอกขาวทิ้งไว้ประมาณ 10นาที แล้วล้างหรือเช็ดด้วยน้ำสะอาดเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง ส่วนของเล่นเด็กหรือเครื่องใช้ของเด็ก ทำความสะอาดหรือซักล้างแล้วผึ่งแดดให้แห้ง  ขณะเดียวกันในโรงเรียนจะต้องสอนให้เด็กล้างมือให้ถูกวิธี เพราะเชื้อโรคจะอยู่ในอุจจาระของเด็กถ้าไม่ทำความสะอาด อาจได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายเมื่อเด็กจับอาหารเข้าปาก

 “โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่ไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษาเฉพาะ แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาทาแก้ปวดในรายที่มีแผลที่ลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กควรดูแลอย่างใกล้ชิด เช็ดตัวเด็กที่ป่วยเพื่อลดไข้เป็นระยะ รับประทานอาหารอ่อนๆ นอนพักผ่อนมากๆ ที่สำคัญสถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาล ต้องจัดให้มีอ่างล้างมือและส้วมที่ถูกสุขลักษณะ หมั่นดูแลความสะอาดเสมอ และแนะนำให้เด็กล้างมือที่สะอาดด้วยน้ำและสบู่ให้ถูกวิธีทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังการขับถ่ายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมด้วย  หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0 2590 3333” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวปิดท้าย   

แหล่งข่าวโดย » กลุ่มประชาสัมพันธ์และข่าว สนง.เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมคร. 
[กรกฏาคม อังคาร 10,พ.ศ 2555 14:55:27]