แท็บเล็ท(Tablet) ช่วยกระตุ้นพัฒนาการได้ แต่ต้องรู้เท่าทัน!!
20 กรกฎาคม 2555
305
แท็บเล็ท(Tablet) ช่วยกระตุ้นพัฒนาการได้ แต่ต้องรู้เท่าทัน!!
กรมสุขภาพจิต เผย เด็ก ป.1 30% พัฒนาการล่าช้า แนะ แท็บเล็ท (Tablet)ช่วยได้ แต่ต้องรู้เท่าทัน วันนี้ (22 พ.ค.2555) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตพร้อมด้วยทีมโฆษกและคณะผู้บริหาร กล่าวถึง แท็บเล็ท(Tablet) กับพัฒนาการเด็กไทย พบ เด็ก ป.1 มีพัฒนาการบางอย่างล่าช้า โดยเฉพาะ ทักษะการใช้ภาษาที่ยังไม่คล่อง ส่วนใหญ่ยังอ่านและเขียนไม่ได้ แนะ ครูและพ่อแม่ต้องรู้เท่าทัน ใกล้ชิด ฝึกคิด ปลูกจิตสำนึกและสร้างกรอบวินัย ป้องกันโรคติด Tablet นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากผลสำรวจสถานการณ์พัฒนาการเด็กปฐมวัย กรมอนามัย และการติดตามสถานการณ์สติปัญญาเด็กนักเรียนไทยของกรมสุขภาพจิต พบว่า พัฒนาการเด็กปฐมวัย นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 - 2550 มีแนวโน้มลดลง จาก ร้อยละ 79.9 เป็น ร้อยละ 67.7 ตามลำดับ ซึ่งในจำนวนนี้ จะมีเด็ก ป. 1 จำนวนร้อยละ 30 มีพัฒนาการบางด้านล่าช้า ขาดความพร้อมเมื่อเทียบกับเพื่อนวัยเดียวกัน ซึ่งอาจบ่งชี้ถึงความไม่พร้อมในการเรียนรู้ตามวัย จำเป็นต้องให้การดูแลพิเศษเพื่อให้มีพัฒนาการปกติโดยเร็ว เพื่อเตรียมรับความพร้อมในการเรียนรู้ในระบบปกติ ทั้งนี้ ในภาพรวม ศักยภาพของเด็กไทย ชั้น ป.1-ป.3 พัฒนาการของเด็กยังไม่ถึง ทั้งทักษะการใช้ภาษาที่ยังไม่คล่องส่วนมากยังอ่านและเขียนไม่ได้ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า สมองของเด็กเรียนรู้มากกว่าสมองของผู้ใหญ่เป็นพันๆเท่า เด็กเรียนรู้ทุกอย่างที่เข้ามาปะทะ สิ่งที่เข้ามาปะทะล้วนเป็นข้อมูลที่เข้าไปกระตุ้นสมองเด็ก ทำให้เซลล์ต่างๆ เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อต่างๆอย่างมากมายซึ่งจะทำให้เด็กเข้าใจและเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ สมอง จะทำหน้าที่นี้ไปจนถึงอายุ 10 ปี จากนั้น สมองจะเริ่มขจัดข้อมูลที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันทิ้งไปเพื่อให้ส่วนที่เหลือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด การเรียนการสอนเพื่อพัฒนาศักยภาพทางสมอง จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงกระบวนการทำงานของสมองให้เกิดการทำงานที่ประสานสัมพันธ์กันระหว่างสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา สำหรับเด็กอายุ 6-7 ปี เป็นเด็กที่อยู่ในวัยเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ควรพัฒนาทักษะทุกอย่างรอบด้าน เช่น ทักษะการใช้กล้ามเนื้อมือในการขีดเขียน ทักษะการฟัง ทักษะการเคลื่อนไหว ทักษะทางสังคม เช่น การรู้จักรอคอย การแบ่งปัน ซึ่งต้องอาศัยการสื่อสารสองทาง (Two Ways Communications) ส่วนเรื่องทักษะด้านภาษา การขีดเขียน เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเด็กวัยนี้ต้องการ การเรียนรู้ผ่านปฏิสัมพันธ์กับบุคคลจริง อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึง การใช้ แท็บเล็ท (Tablet) เพื่อการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก ว่า แท็บเล็ท เป็นสื่อทันสมัย ช่วยเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ให้กว้างขึ้น เป็นทางเลือกใหม่ในการใช้สื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทั้งพ่อแม่ ครู และนักเรียน ช่วยให้เด็กได้ฝึกประสบการณ์ทางภาษา มีประสบการณ์เรื่องเทคโนโลยี การฝึกคิดสร้างสรรค์ เกิดความสนใจใฝ่รู้ แต่จำเป็นที่ทุกคนต้อง รู้เท่าทัน ว่า - แท็บเล็ท (Tablet) เป็นของเล่นอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องเล่นเกมอิเล็กทรอนิกส์แบบพกพารุ่นใหม่ หรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่มีความสามารถในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ให้กับเด็ก - เป็นแหล่งเข้าถึงข้อมูล ห้องสมุดในโรงเรียน หอสมุดแห่งชาติ หรือห้องสมุดสาธารณะขนาดใหญ่ที่ไม่มีเวลาปิดทำการ เป็นห้องเรียนสำหรับเด็กในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลระหว่างเพื่อนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนเป็นพื้นที่ของการถกเถียงแลกเปลี่ยนความรู้ของกลุ่มเด็กๆ ที่สนใจเรื่องเดียวกัน - เป็นอุปกรณ์พกพาที่เป็นพื้นที่ส่วนตัวของเด็ก หรือพื้นที่เล็กๆ ที่ครอบครัวจะใช้เวลาเรียนรู้การใช้งานและสร้างกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวโดยใช้ แท็บเล็ท (Tablet) เป็นเครื่องมือ - เป็นอุปกรณ์เชื่อมต่อเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่ออัพโหลดรูปภาพส่วนตัว บอกเล่าชีวิตประจำวันในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งต้องเตรียมความพร้อมให้เด็กเข้าใจการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน - เป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ลดปริมาณกระดาษ ลดน้ำหนักของกระเป๋าหนังสือ เป็นเหมือนหนังสือมีชีวิตที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ อย่างเป็นระบบ สามารถโต้ตอบผู้อ่านได้ หรือเป็นพื้นที่ในการแสดงความสร้างสรรค์ของเด็กๆ เช่น หนังสั้น มิวสิกวิดีโอ แอนิเมชัน บทเรียนออนไลน์ เป็นต้น ตลอดจนสามารถทำให้กลายเป็นห้องสมุดที่สะสมหนังสือน่าอ่านไว้ได้มากมาย - เป็นที่เก็บแอพพลิเคชันล้ำสมัย เพื่อบ่งบอกถึงความทันสมัยของเจ้าของ หรือเป็นที่เก็บแอพพลิเคชันที่จำเป็นต่อการทำงาน การพัฒนาผลงาน และโอกาสในการพัฒนาต่อยอดแอพพลิเคชันต่อไป เพื่อให้เกิดการใช้ แท็บเล็ท อย่างสร้างสรรค์ ไม่เกิดโรคติดแท็บเล็ท อย่างที่หลายฝ่ายเป็นห่วงกัน อธิบดีกรมสุขภาพจิต มีข้อแนะนำ ดังนี้ ข้อแนะนำสำหรับครู - ต้องมีความพร้อมและรู้เท่าทันเทคโนโลยี ตลอดจนต้องเตรียมการเรียนการสอนเพิ่มขึ้น - ต้องจัดสิ่งแวดล้อมที่จูงใจและเสริมแรงให้เกิดการเรียนรู้ - จัดกิจกรรมและสถานการณ์ให้เด็กได้แสดงออกและคิดอย่างสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้นักเรียนฝึกคิดและทำ - ต้องใช้แหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายมากขึ้น ข้อแนะนำสำหรับ พ่อแม่ ผู้ปกครอง Tablet มีประโยชน์มากมายมหาศาล แต่อาจกลายเป็นพิษ สำหรับลูกหลานได้ หากไม่มีการดูแลกำกับการใช้ เด็กอาจถูกบั่นทอนสุขภาพ ใช้ Tablet เพลิน จนไม่กิน ไม่นอน นิ้ว-คอเคล็ด ไม่อยากวิ่งเล่น เขียนหนังสือ หรือทำกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ ที่สำคัญ อาจเกิดโรคติด Tablet ซึ่งการปฏิเสธเทคโนโลยี ไม่ให้เด็กเข้าไปเกี่ยวข้องโดยเด็ดขาด เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำและเป็นไปได้ยากมากในยุคที่เด็กต้องเติบโตท่ามกลางกระแสการไหล่บ่าของเทคโนโลยี ดังนั้น สิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง จะทำได้ คือ ต้องติดอาวุธทางความคิด (ปัญญา) และสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกหลานให้สามารถอยู่กับเทคโนโลยีได้อย่างฉลาดรู้ (รู้เท่าทัน) ดังนี้ 1. ใกล้ชิด นับว่ามีความสำคัญเป็นอันดับแรกสุด พ่อแม่ต้องแบ่งเวลาเลี้ยงดูลูก เล่นกับลูก สอนลูกตั้งแต่วัยแบเบาะ สร้างความรัก ความอบอุ่น ความผูกพัน ซึ่งจะเป็นรากฐานแห่งสายสัมพันธ์ในครอบครัวอันยาวไกล ทั้งนี้ หากลูกได้รับ Tablet ควรเริ่มตั้งแต่วันแรกที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์ทำกิจกรรมร่วมกัน ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนการรับรู้ การให้เหตุผล ในมุมมองของพ่อแม่ ตลอดจนสอบถามเรื่องงานที่ครูมอบหมายผ่าน Tablet รวมทั้งสังเกตและติดตามความรู้สึกของลูกจากการใช้ Tablet อยู่เสมอ 2. ฝึกคิดและทักษะชีวิต จัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้ลูก เช่น เล่านิทาน อ่านหนังสือ เล่นของเล่น เล่นเกม พาไปทัศนาจร เสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากเรื่องราวเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน ฝึกให้ช่วยทำงานบ้าน ฝึกแก้ปัญหาและช่วยเหลือผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องสอนให้ฝึกคิดเป็นและรู้หลักการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ทั้งนี้ ในการใช้ประโยชน์จาก tablet พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ให้กับลูก ตลอดจนหาประเด็นแง่มุมการเรียนรู้ด้านบวกจากการใช้งาน รวมทั้ง ควรสอนให้ลูกมีหลักคิด อย่างน้อย 2 เรื่อง ได้แก่ 2.1 หลักคิด เรื่อง " คุณ-โทษ " คือ สรรพสิ่งในโลกนี้ย่อมมีทั้งคุณ (ดี) และโทษ (เลว) ในตัวมันเองเสมอ เป็นดาบสองคม ที่ควรเลือกใช้ประโยชน์ให้ถูกและป้องกันโทษที่จะเกิดขึ้น 2.2 หลักคิด เรื่อง "คุณค่าแท้-คุณค่าเทียม " คือ มอง แยกแยะสิ่งต่างๆ ให้ออกว่า อะไรคือคุณค่า (ประโยชน์) แท้จริง อะไรคือคุณค่า (ประโยชน์) ที่มากกว่าประโยชน์แท้จริง เช่น นาฬิกามีคุณค่าแท้คือ บอกเวลา คุณค่าเทียมคือ เป็นของประดับ ซึ่งควรให้ความสำคัญ ต่อคุณค่าแท้มากกว่าคุณค่าเทียม ที่จะช่วยให้ลูกมีความฉลาด มีเหตุมีผลและมีความพอเพียงในการบริโภค 3. ปลูกจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ ฝึกให้รู้จักรับผิดชอบต่อตนเอง พ่อแม่ ครอบครัว เพื่อน ครู และสังคม 4. สร้างกรอบวินัย - ฝึกลูกให้รู้จักมีระเบียบวินัยและกติกา เพื่อไม่ให้ทำอะไรตามใจตัวเองจนมีผลเสียต่อหน้าที่ การงาน การพัฒนาตน และบุคลิกภาพที่ดี มีวุฒิภาวะ ทั้งนี้ ควรหาอุบายให้รางวัลเมื่อลูกทำดี และลงโทษเมื่อลูกทำผิด - ตั้งกฎเกณฑ์กติกาในการใช้งานตั้งแต่แรก เช่น การจำกัดเวลาและเงื่อนไข ทั้งนี้ ควรใช้ tablet ไม่เกินวันละ ครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง โดยสร้างกิจกรรมอื่นของครอบครัวร่วมด้วย โดยต้องชี้แจงถึงเหตุผลจนลูกเข้าใจและยอมรับ หากทำผิดกติกาจะต้องหาอุบายลงโทษ - ส่งเสริมให้ลูกใช้ไอทีในการค้นคว้าเรียนรู้ ทำรายงานส่งครู วาดภาพ เล่นดนตรี มากกว่าเล่นเกม อย่างไรก็ตาม หากลูกต้องการเล่นเกม พ่อแม่ไม่ควรห้าม แต่ควรดูเกมที่ลูกเล่นว่ามีความเหมาะสมตามวัยของลูกเพียงใด ซึ่ง ทั้ง 4 ข้อนี้ จะเป็นภูมิคุ้มกันโรคติดการใช้ Tablet หรือไอที ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตยังได้ร่วมมือกับแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)พัฒนาสื่อเรียนรู้สำหรับเด็กและพ่อแม่ ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในโครงการ แท็บเล็ท (Tablet ) ของรัฐบาลได้ ประกอบด้วย การ์ตูนพัฒนาทักษะชีวิต สำหรับนักเรียนป.1-3 สำหรับการเรียนรู้ทักษะชีวิตในประเด็นสำคัญของวัย และ ละครเสียง สำหรับพ่อแม่ ในชื่อ "พ่อแม่เลี้ยงบวก" เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ และพัฒนาทักษะการเลี้ยงลูกให้กับพ่อแม่ การเข้าถึง Tablet เปรียบเสมือนการได้เครื่องมือการเรียนรู้มาหนึ่งชิ้น ฝ่ายต่างๆ จึงควรเร่งพัฒนาเนื้อหาและสิ่งสนับสนุนเพื่อให้โครงการนี้ เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.jitdee.com อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว *********************** www.dmh.go.th 22 พฤษภาคม 2555
|
แหล่งข่าวโดย » ศูนย์สื่อสารสังคม กรมสุขภาพจิต |