เกร็ดความรู้สู้โรค
น้ำบริโภคเพื่อสุขภาพ
18 กรกฎาคม 2556
536
น้ำบริโภคเพื่อสุขภาพ
ในสังคมปัจจุบันน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทเป็นที่นิยมกันเป็นอย่างแพร่หลาย ทุกครอบครัวมีการซื้อน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทมาดื่มในบ้าน ทำให้ธุรกิจการผลิตน้ำขาย เป็นธุรกิจที่มีความเติบโตเพิ่มขึ้นรวดเร็วและเกิดธุรกิจขายเครื่องกรองน้ำ และผลิตน้ำบริโภคจากเครื่องกรองยี่ห้อส่วนใหญ่เป็นน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทที่ไม่มีเลขสารบบอาหาร ซึ่งอ้างว่าน้ำบริโภคที่ผ่านเครื่องกรองดังกล่าวเป็นน้ำบริสุทธิ์ มีพลังแม่เหล็กธรรมชาติ น้ำที่กรองได้มีคุณสมบัติเหมือนน้ำแร่ เพิ่มการไหลเวียนเลือดมีออกซิเจนมากขึ้น ขจัดสารพิษในร่างกาย และมีสรรพคุณในการบำบัดและป้องกันโรคต่างๆ เช่นโรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคกระดูกพรุน ขับสารพิษ สร้างภูมิต้านทานโรค ฯลฯ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการโฆษณาเกินจริง เพราะยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่เชื่อถือได้ทางวิทยาศาสตร์ว่าสามารถบำบัดบรรเทารักษาโรคใด ๆได้
การกระทำการโฆษณาอาหารเกินจริง เป็นการกระทำฝ่าฝืน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ผู้กระทำจะต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ และ ผู้ที่ต้องการผลิตจำหน่าย น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท จะต้องขออนุญาตสถานที่ผลิตน้ำ ฯ และขอเลข อ.ย.สำหรับน้ำฯที่จะผลิตขาย จากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้หน่วยสาธารณสุข ตรวจสอบ ควบคุม สถานที่ผลิต ว่ามีกระบวนการผลิตน้ำบริโภคฯเป็นไปตามมาตรฐานการผลิตที่ดี และน้ำ ฯ มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ผู้ที่ผลิต จำหน่ายน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ที่ไม่มีเลข อย. จัดเป็นการกระทำฝ่าฝืน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 เช่นกันซึ่งผู้ผลิตจำหน่ายน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ที่ไม่มีเลข อย.จะต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท ดังนั้นประชาชนผู้ที่สนใจในการประกอบธุรกิจผลิตน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทเพื่อจำหน่าย โปรดศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตน้ำบริโภค ในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทให้ละเอียด และอย่าหลงเชื่อและใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลการโฆษณา หรือ ท่านอาจจะไปปรึกษาหารือกับ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในจังหวัดของท่าน ก่อนตัดสินใจดำเนินการธุรกิจดังกล่าว และสำหรับประชาชนผู้บริโภคน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุปิดสนิท ไม่ว่าจะเป็นประเภทขวด แก้ว ถัง ควรพิจารณาให้รอบคอบและสังเกตรายละเอียดอย่างถ้วนถี่ ดังนี้
1. ฉลากมีรายละเอียดระบุไว้ครบ เช่น ชื่ออาหาร ชื่อผู้ผลิต สถานที่ผลิต ปริมาตรสุทธิ นอกจากนี้ ฉลากต้องแสดงเลขสารบบอาหาร(เลขอย.) จำนวน 13 หลัก พิมพ์อยู่ในกรอบเครื่องหมาย อย. เช่น อย.80-2-03355-2-0001 ในกรอบเครื่องหมาย อย. เท่านั้น
2. ภาชนะที่บรรจุต้องสะอาด ไม่รั่วซึม หรือ มีรอยสกปรกเปรอะเปื้อน และฝาปิดผนึกสนิท ไม่มีร่องรอยการเปิดใช้
3. ลักษณะของน้ำที่บรรจุอยู่ต้องใสสะอาด ไม่มีตะกอน ไม่มีสิ่งเจือปนอื่น ๆ และไม่มีสี กลิ่น รสที่ผิดปกติ
4. การซื้อน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทชนิดบรรจุถัง ควรตรวจสอบพลาสติกที่รัดปากถัง ว่ามีฉลากข้อมูลครบถ้วน พร้อมมีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.)
5. ไม่ซื้อน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทที่วางปะปนกับผลิตภัณฑ์วัตถุ
6.ใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารไม่มีข้อมูลว่าสามารถรักษา หรือบำบัดโรคใดๆ
สำหรับผู้บริโภคที่ใช้บริการตู้น้ำหยอดเหรียญ หรือเครื่องจำหน่ายน้ำอัตโนมัติ ควรทราบว่าน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญ มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนฝุ่นละอองและเชื้อโรคมากกว่าน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท หากจะใช้บริการน้ำบริโภคจากตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติ ควรพิจารณาให้รอบคอบและสังเกตรายละเอียดอย่างถ้วนถี่ ดังนี้
1. การติดตั้งตู้ฯอยู่ในบริเวณที่สะอาด ไม่เฉอะแฉะ มีการระบายน้ำที่ถูกสุขลักษณะ ห่างไกลจากความเสี่ยงต่อการปนเปื้อน เช่นไม่ตั้งอยู่ริมถนนที่มีฝุ่นละอองมากเช่น ริมถนน ไม่ตั้งใกล้กองขยะ หรือสถานที่เก็บวัตถุอันตราย หรือสถานที่ติดตั้งต้องไม่มีแหล่งแมลงและสัตว์พาหะนำโรค
2. การติดตั้งตู้ต้องยกระดับสูงจากพื้น อย่างน้อย 10 เซนติเมตร
3. บริเวณถาดรองน้ำ หัวจ่ายน้ำของตู้น้ำดื่มนั้นสะอาดหรือไม่ มีฝาปิดมิดชิดหรือไม่ และไม่ควรตั้งอยู่กลางแจ้ง เพราะแสงแดดจะทำให้ตะไคร่ขึ้นภายในหัวจ่ายน้ำ และหัวจ่ายต้องสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร
4. สังเกตดูฉลาก ที่ต้องแสดงไว้ที่ด้านหน้าตู้น้ำหยอดเหรียญอัตโนมัติ ในลักษณะที่คงทนถาวร สามารถอ่านและเห็นได้ชัดเจน โดยต้องระบุข้อความ ดังนี้
(1) ข้อแนะนำในการใช้
(1) ต้องดูความสะอาดของหัวจ่ายน้ำ
(2)ต้องหลีกเลี่ยงการใช้บริการของตู้น้ำหยอดเหรียญอัตโนมัติที่ไม่มีลักษณะไม่ถูกสุขลักษณะ
(3) ต้องใช้ภาชนะที่สะอาดในการบรรจุน้ำ
(4)ต้องหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำจากตู้น้ำหยอดเหรียญอัตโนมัติที่มีสีกลิ่นหรือรสผิดปกติ
(5)ไม่ควรนำภาชนะที่เคยบรรจุของเหลวชนิดอื่นมาบรรจุน้ำ
(2) ระบุวัน เดือน ปี ที่เปลี่ยนไส้กรอง แต่ละชนิด
(3) คำเตือน ต้องระบุว่า “อันตราย หากไม่ตรวจสอบวัน เดือน ปี ที่เปลี่ยนไส้กรอง และตรวจสอบคุณภาพน้ำ” ข้อความคำเตือนต้องแสดงด้วยอักษรสีแดง ขนาดไม่ต่ำกว่า
ทั้งนี้ ถ้าไม่มีข้อมูลการล้างทำความสะอาดเครื่องกรอง การดูแลรักษาไส้กรอง และการตรวจสอบคุณภาพของน้ำ ก็ไม่ควรซื้อ เพราะอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยได้ การดื่มน้ำสะอาดมีผลดีต่อสุขภาพ (แต่ไม่มีผลในการรักษาโรค)
ผู้บริโภคควรสังเกตและพิจารณาให้รอบครอบก่อนการเลือกชื้อ
ผู้บริโภคควรสังเกตและพิจารณาให้รอบครอบก่อนการเลือกชื้อ
ที่มา : สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช