Background



เกร็ดความรู้สู้โรค
การป้องกันโรคที่มาในฤดูร้อน
11 กุมภาพันธ์ 2557

688


เนื่องจากขณะนี้เป็นระยะเวลาที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งเหมาะแก่การเจริญเติบโตและแพร่ระบาดของเชื้อโรคหลายชนิด ดังนั้น ในบางพื้นที่ของประเทศที่ประสบกับภาวะแล้งในช่วงฤดูร้อน อาจเกิดการระบาดของโรคติดต่อต่างๆได้ โดยเฉพาะโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เช่นโรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ บิด อหิวาตกโรค ไข้รากสาดน้อยหรือไข้ไทฟอยด์ และโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เป็นต้น

กรมควบคุมโรคมีความห่วงใยในสุขภาพและอนามัยของประชาชนในช่วงฤดูร้อนนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงขอแจ้งให้ประชาชนระมัดระวัง ดูแลในเรื่องความสะอาดของอาหาร น้ำดื่ม ภาชนะในการใส่อาหาร การเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ตลอดจนให้มีการใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะและขอแนะนำ ให้ทราบอาการสำคัญ วิธีป้องกันโรคที่จะเกิดในฤดูร้อนดังนี้

1.    โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ

1.1      สาเหตุและอาการของโรค

ก.    โรคอุจจาระร่วง

เกิดจากเชื้อต่างๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว และหนอนพยาธิ สามารถติดต่อได้โดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป อาการสำคัญคือ ถ่ายอุจจาระเหลวตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปต่อวัน หรือถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายเป็นมูกเลือดแม้เพียง 1 ครั้ง อาจมีอาเจียนร่วมด้วย โดยอาการมีตั้งแต่เพียงเล็กน้อยถึงอาการรุนแรงจากภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ อาจทำให้ช็อก  หมดสติ  และเสียชีวิตได้

ข.     โรคอาหารเป็นพิษ

เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย(เช่น เชื้อซาลโมเนลล่า) เชื้อรา ไวรัส เห็ด หรือสารเคมี โลหะหนัก ที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร สามารถติดต่อได้โดยการทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อหรือสารพิษนั้นเข้าไป มักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆดิบๆ จากเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว ไข่เป็ด ไข่ไก่ อาหารกระป๋อง อาหารทะเล เห็ดพิษ และน้ำนมที่ยังไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ นอกจากนี้อาจพบในอาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านานๆแล้วไม่ได้แช่เย็นไว้ และไม่ได้อุ่นให้ร้อนพอ ก่อนรับประทานอาหารจะทำให้เป็นโรคนี้ได้  

อาการสำคัญ คือ มีไข้ ปวดท้อง เนื่องจากเชื้อโรคทำให้อักเสบที่กระเพาะอาหารและลำไส้ นอกจากนี้ มีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ตามเนื้อตัว คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อุจจาระร่วง ซึ่งถ่ายมากจะเกิดอาการขาดน้ำและเกลือแร่ได้ และบางรายมีอาการรุนแรง เนื่องจากมีการติดเชื้อ และการอักเสบที่อวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น ข้อและกระดูก ถุงน้ำดี กล้ามเนื้อหัวใจ ปอด ไต เยื่อหุ้มสมอง และเมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสโลหิตจะทำให้เกิดโลหิตเป็นพิษ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้โดยเฉพาะเด็กทารก เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ

ค.     โรคบิด

เกิดจากเชื้อบิด ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียหรืออมีบา สามารถติดต่อได้โดยการทานอาหาร ผักดิบหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป อาการสำคัญคือ ถ่ายอุจจาระกะปริดกะปรอย อุจจาระมีมูกหรือมูกปนเลือด ซึ่งเป็นผลจากการอักเสบที่เกิดจากเชื้อรุกล้ำผ่านผนังลำไส้ และทำให้เกิดฝีขนาดเล็กที่ลำไส้ใหญ่ ร่วมกับ มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ตะคริว กล้ามเนื้อเกร็ง ปวดท้องแบบปวดเบ่งคล้ายถ่ายอุจจาระไม่สุด ซึ่งบางคนอาจเป็นโรคนี้แบบเรื้อรังได้

ง.      อหิวาตกโรค

เกิดจากเชื้ออหิวาตกโรคซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรีย  สามารถติดต่อโดยตรงจากการทานอาหาร  หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป อาการสำคัญคือ ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำคราวละมากๆ ส่วนใหญ่ไม่มีอาการปวดท้อง ไปจนกระทั่งมีการถ่ายอุจจาระเหลวสีคล้ายน้ำซาวข้าว กลิ่นเหม็นคาวจัด  อาจมีอาเจียนร่วมด้วย  และมีอาการขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว คือ กระหายน้ำ ปากแห้ง กระสับกระส่าย อ่อนเพลีย ตาลึกโหล ผิวหนังเหี่ยวย่น ปัสสาวะน้อยหรือไม่มีปัสสาวะ หายใจผิดปกติ  ชีพจรเต้นเบาเร็ว อาการเหล่านี้เกิดขึ้นรวดเร็ว ผู้ป่วยจะอยู่ในภาวะช็อก หมดสติ เนื่องจากเสียน้ำไปมากสำหรับในรายที่มีอาการรุนแรงอาจถึงแก่ความตายในเวลาอันรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที

จ.     ไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย

เกิดจากเชื้อไทฟอยด์  ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรีย  สามารถติดต่อได้โดยรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระและปัสสาวะของผู้ป่วย  อาการสำคัญ  คือ  มีไข้สูงลอย

40 องศาเซลเซียสเป็นเวลานาน  ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร แน่นท้อง ท้องอืด  ผู้ป่วยอาจมีอาการท้องผูก หรือบางรายอาจมีอาการท้องเสียได้  ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เรื้อรังจะมีเชื้อปนออกมากับอุจจาระและปัสสาวะเป็นครั้งคราว  ซึ่งทำให้ผู้นั้นเป็นภาหะของโรคได้ถ้าไปประกอบอาหารโดยไม่สะอาด หรือไม่สุก ก็จะทำให้เชื้อไทฟอยด์แพร่ไปสู่ผู้อื่นได้

            โรคติดต่อทางอาหารและน้ำดังกล่าวข้างต้น แม้ว่าจะมีสาเหตุของการเกิดโรคต่างกัน แต่จะวิธีการติดต่อที่คล้ายคลึงกัน คือ เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายได้โดย การรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไปเช่นอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบก้อย อาหารที่มีแมลงวันตอม หรืออาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านานๆโดยไมได้แช่เย็นไว้ และไม่ได้อุ่นร้อนพอก่อนรับประทาน ทั้งนี้ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคดังกล่าวข้างต้น สามารถแพร่เชื้อได้ทางอุจจาระ  และหากเป็นผู้ประกอบอาหารหรือพนักงานเสิร์ฟอาหารก็จะมีโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้มาก

1.2 การรักษา

 1. ในระยะเริ่มแรกที่มีอาการอุจจาระร่วง  หรืออาเจียนเล็กน้อยควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ 

หรืออาหารเหลวที่มีอยู่ในบ้านมากๆโดยอาจเป็น น้ำข้าว น้ำแกงจืด  น้ำผลไม้ หรือ  ข้าวต้ม  และให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่(โอ อาร์ เอส) ในสัดส่วนที่ถูกต้อง  โดยใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่ 1 ซอง ผสมกับน้ำต้มสุขเย็น 1 แก้ว (250 มิลลิลิตร) หรือเตรียมสารละลายเกลือแร่เอง โดยการผสมน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ เกลือป่น ครึ่งช้อนชา ละลายกับน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 1 ขวดน้ำปลากลมและให้ผู้ป่วยดื่มทีละน้อยๆแต่บ่อยครั้ง เพื่อเป็นการทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป  เนื่องจากการถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง สารละลายน้ำตาลเกลือแร่ที่ผสมแล้ว  ควรดื่มให้หมดภายใน 1 วัน ถ้าเหลือให้เททิ้ง  แล้วผสมใหม่วันต่อวัน การรักษาดังกล่าวนี้ จะทำให้ผู้ป่วย มีอาการดีขึ้น แต่ถ้าผู้ป่วยยังถ่ายบ่อย และมีอาการมากขึ้น เช่นอาเจียนมากขึ้น ไข้สูงหรือชักหรืออาการขาดน้ำ ควรนำไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็วต่อไป

2.เด็กที่ดื่มนมแม่ให้ดื่มนมแม่ต่อไปร่วมกับป้อนสารละลายน้ำตาลเกลือแร่บ่อยๆ สำหรับเด็กที่ดื่มนมผงให้ผสมนมตามปกติแต่ให้ดื่มเพียงครึ่งเดียวของปริมาณที่เคยดื่มแล้วให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่สลับกันไป (ไม่ควรผสมสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ลงในนมผสม)

3.ให้ผู้ป่วยทานอาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น โจ๊ก หรือ ข้าวต้ม ภายใน 4 ชั่วโมง  หลังจากดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่เพื่อช่วยให้ลำไส้ได้อาหารและฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

4.หยุดให้สารละลายน้ำตาลเกลือแร่ เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น เช่น ถ่ายน้อยลง  หลังจากนั้นให้รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย โดยกินครั้งละน้อยๆและเพิ่มจำนวนมื้อ

5. ไม่ควรกินยาเพื่อหยุดถ่ายเพราะทำให้เชื้อโรคยังอยู่ในร่างกายเป็นอันตรายมากขึ้น

6. การใช้ยาปฏิชีวนะ  ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์

1.3 การป้องกัน

1. ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร     หรือก่อนเตรียมนมให้เด็ก และภายหลังจากการเข้าห้องน้ำหรือห้องส้วมทุกครั้ง

2. ดื่มน้ำสะอาด หรือน้ำต้มสุก รับประทานอาหารที่สะอาด และสุกใหม่ๆไม่ควรรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม หากต้องการจะเก็บรักษาอาหารที่ปรุงสุกแล้วไว้รับประทานในวันต่อไป ควรใส่ไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด เก็บไว้ในตู้เย็น และนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง และการเก็บอาหารที่ปรุงสุกแล้ว ควรแยกจากอาหารหรือวัตถุดิบที่ยังไม่ปรุง เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อน

3. การกำจัดขยะมูลฝอย เศษอาหาร และสิ่งปฏิกูลรอบๆบริเวณบ้านทุกวันเพื่อมิให้เป็นแหล่งเพาะพันธ์แมลงวัน และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

4. ถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ(เช่น ส้วมซึม) ทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เป็นการแพร่โรคจากผู้ป่วยได้

 

5.  สำหรับผู้ประกอบอาหาร และพนักงานเสิร์ฟอาหาร หมั่นล้างมือก่อนจับต้องอาหารทุกครั้ง ดูแลรักษาความสะอาดภายในครัว และอุปกรณ์เครื่องใช้ในการประกอบอาหาร ตลอดจนกำจัดขยะมูลฝอย เศษอาหารทุกวัน และหากมีอาการอุจจาระร่วงควรหยุดปฏิบัติงานจนกว่าจะหายหรือตรวจไม่พบเชื้อในอุจจาระ

6.  สำหรับผู้ประกอบการกิจการผลิตและจำหน่ายน้ำแข็ง น้าดื่ม ควรระมัดระวังโดยต้องนำน้ำที่สะอาด ปราศจากเชื้อโรคมาผลิตรวมทั้งการขนย้าย เพื่อจำหน่ายต้องดำเนินการ ให้ถูกหลักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ

7.  ผู้ประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงงานฆ่าสัตว์ จำหน่ายเนื้อสัตว์ รวมไปถึงร้านอาหาร ทุกประเภทควรดูแลสุขภาพอนามัยของสัตว์เลี้ยงไม่ให้เป็นโรคติดต่อและหมั่นทำความสะอาดสถานที่ประกอบการ ให้มีการบำบัดหรือกำจัดน้ำเสีย และกำจัดขยะมูลฝอยบริเวณโดยรอบ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธ์แมลงวัน

8.   แหล่งชุมชนชั่วคราว เช่น บริเวณก่อสร้าง ควรจัดให้มีน้ำดื่มสะอาด มีส้วมที่ถูกสุขลักษณะ มีการกำจัดขยะมูลฝอย และน้ำเสียที่เหมาะสมในบริเวณชุมชนก่อสร้างตลอดจนมีการให้สุขศึกษาแก่คนงานในการป้องกันโรค

9. แหล่งผลิตหรือจับสัตว์น้ำได้แก่ บริเวณสะพานปลา เรือประมง จะต้องมีสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่ดี ส้วมถูกสุขลักษณะ น้ำดื่มสะอาด  เช่นน้ำต้มสุข น้ำใช้ เช่นน้ำประปา หรือ น้ำที่มีปริมาณคลอรีน 0.2-0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร รวมถึงอนามัยส่วนบุคคลของผู้ประกอบกิจการนั้นๆ

2. โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ

2.1 สาเหตุและอาการของโรค

เกิดจากเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า  เป็นโรคติดต่อจากสัตว์เลือดอุ่นโดยเฉพาะ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ติดต่อมาสู่คน โดยถูกสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด ข่วนหรือเลีย บริเวณที่มีแผลรอยข่วน หรือน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าเข้าตา ปาก จมูก สัตว์ที่นำโรคที่สำคัญที่สุดได้แก่ สุนัข แมว และอาจพบในสัตว์อื่นๆ ทั้งสัตว์เลี้ยงเช่น หมู ม้า วัว ควายและสัตว์ป่าเช่น ลิง ชะนี กระรอก กระแต เป็นต้น เมื่อคนได้รับเชื้อแล้ว และไม่ได้รับการป้องกันที่ถูกต้อง ส่วนใหญ่จะมีอาการหลังจากรับเชื้อ 15 - 60 วัน บางรายอาจน้อยกว่า 10 วัน หรือนานเป็นปี ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ ขณะนี้ไม่มียารักษา ผู้ป่วยต้องเสียชีวิตทุกราย ฉะนั้น การป้องกันโรคจึงสำคัญที่สุด

อาการที่สำคัญ

เริ่มด้วยอาการปวดศีรษะ มีไข้ต่ำ  เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย อาการที่พบบ่อยๆคือ คันบริเวณบาดแผลที่ถูกกัดซึ่งแผลอาจหายสนิทไปนานแล้วต่อมาลุกลามไปที่อื่นๆผู้ป่วยจะเกามากจนเลือดออกซิบๆและมีอาการกลืนลำบากเพราะกล้ามเนื้อที่ลำคอและกล่องเสียงหดและกล่องเสียงหดและเกร็งตัว อยากดื่มน้ำแต่กลืนไม่ได้ทำให้มีอาการกลัวน้ำ น้ำลายฟูมปาก บ้วนน้ำลายบ่อย  กระวนกระวาย ตื่นเต้นใจคอหงุดหงิด หายใจเร็ว ประสาทสัมผัสจะไวต่อการกระตุ้น ทำให้ตกใจง่ายและสะดุ้งผวาเมื่อถูกลม หรือได้ยินเสียงดัง กล้ามเนื้อแขนขาเกร็งกระตุก ระยะหลังจะเป็นอัมพาตหมดสติและเสียชีวิตภายใน 2-7 วัน นับจากเริ่มแสดงอาการ

 

วิธีสังเกตสุนัขหรือแมวที่เป็นโรคกลัวน้ำ      

ระยะแรก สัตว์จะมีนิสัยผิดไปจากเดิม ต่อมาจะมีอาการ ตื่นเต้น ตกใจง่าย กระวนกระวาย กระโดดงับลมหรือแมลง กินของแปลกๆเช่น เศษไม้ หินดิน ทราย กัดทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า กินอาหารได้น้อยลง ม่านตาเบิกขยาย และไวต่อแสงและเสียง ระยะสุดท้ายจะมีอาการอัมพาตทำให้เสียงเห่าหอนผิดปกติ หลังแข็ง หางตก ลิ้นห้อย โดยคางจะห้อย น้ำลายไหลซึม กลืนไม่ได้ ขากรรไกรแข็ง อ้าปากค้าง ขาสั่น เดินไม่มั่นคง อาการอัมพาตจะลุกลามไปทั่วตัว แล้วจะล้มลง ชักและตายภายใน 10 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มแสดงอาการ อย่างไรก็ตามสัตว์บางตัวอาจมีอาการซึมโดยแสดงอาการระยะตื่นเต้นสั้นหรือไม่แสดงอาการเลย ซุกซ่อนอยู่ในที่มืดและเงียบๆไม่กินอาหาร อาจเอาเท้าตะกรุยคอคล้ายกระดูกติดคอ โดยไม่มีอาการดุร้ายให้  เห็นจะกัดคนเมื่อถูกรบกวน ดังนั้น จึงต้องสนใจระมัดระวังต้องไปพบแพทย์  หลังถูกกัดเช่นกัน

2.2  การป้องกัน

1.      นำสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว  ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้ากำหนด เจ้าของต้องนำสุนัขไปรับการฉีดวัคซีนเข็มแรกอายุ 2-4 เดือนละควรฉีดกระตุ้นหลังจากเข็มแรก 1-3 เดือน

2.      ระวังบุตรหลานไม่ให้เล่นคลุกคลีกับสุนัข หรือสัตว์เลี้ยงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีน ควรนำสัตว์ที่นำมาเลี้ยงไปรับการฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุดเพราะสัตว์ที่ได้รับวัคซีนถูกต้องแล้วประมาณ 1 เดือน จึงจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ และถ้าไม่ต้องการให้สุนัขมีลูกควรนำไปคุมกำเนิด เช่นทำหมัน ฉีดยาคุม

3.      ควรทิ้งขยะ เศษอาหาร ในที่ที่มีฝาปิดมิดชิด หรือกำจัดโดยการฝัง หรือเผา เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งอาหารสุนัขจรจัด และดูแลสุนัขอย่างรับผิดชอบ ไม่ควรปล่อยให้ก่อความรำคาญเสียหายต่อผู้อื่น

4.      เมื่อถูกกัด หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆครั้ง เช็ดให้แห้งแล้วใส่สารละลายไอโอดีนที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เช่นโพวิดีน ไอโอดีน หรือยารักษาแผลสดอื่นๆ แทน พร้อมทั้งติดตามหาเจ้าของสุนัขที่กัดเพื่อสอบถามประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและประวัติอาการสุนัขเพื่อเฝ้าสังเกตต่อไปแล้วรีบไปพบแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ใกล้ที่สุด เพื่อรับคำแนะนำในการฉีดวัคซีน และอิมมูโนโกบุลิน ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และถ้าต้องได้รับการฉีดวัคซีนและอิมมูโนโกบุลินจะต้องไปให้ครบตามนัดหมายและปฏิบัติตามคำสั่งโดยเคร่งครัด

5.       ควรกักขังสุนัขหรือแมวที่กัดไว้เพื่อดูอาการอย่างน้อย 10 วัน  โดยในระหว่างนี้ ควรให้อาหาร และน้ำตามปกติ แต่ต้องระวัง และไม่คลุกคลีด้วย ถ้าสัตว์มีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ทันที และถ้าสัตว์ตาย ในระหว่างนี้ให้ตัดหัวส่งตรวจ กรณีมีอาการชัดเจนหรือเป็นสัตว์ป่า หรือไม่มีเจ้าของและกักขังไม่ได้ให้ฆ่าทันทีแล้วรีบตัดหัวส่งตรวจ ทั้งนี้โปรดระมัดระวังอย่าทำให้สมองเละ เพราะจะทำให้ตรวจไม่ได้ และในการตัดหัวสัตว์ส่งตรวจนั้นควรสวมถุงมือกันน้ำหรือใช้ถุงพลาสติกหุ้มมือ ขณะทำการตัด(ผู้ที่มีบาดแผลที่มือไม่ควรแตะต้องสัตว์นั้น)แล้วนำถุงพลาสติกครอบส่วนหัวสุนัขก่อนใช้มีดคมๆตัดตรงรอยข้อต่อระหว่างหัวกับคอ รวบถุงพลาสติกที่ครอบหัวสุนัขไว้ และนำใส่ลงในถุงพลาสติกหนาๆอีกชั้นหนึ่ง ไม่ควรใช้มีดปังตอ หรือขวานสับ เพราะเชื้ออาจกระเด็นเข้าปากและตาได้ ใส่หัวสัตว์ในถุงพลาสติก รัดปากถุงให้แน่น และใส่ภาชนะที่มีความเย็น เช่น กระติกที่มีน้ำแข็งอยู่เพื่อกันไม่ให้เน่า รีบส่งห้องปฏิบัติการตรวจโรคพิษสุนัขบ้าทันที

6.      เมื่อพบเห็นสุนัข หรือสัตว์ทีมีอาการที่คิดว่าจะเป็นโรคนี้ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข องค์การบริหารส่วนตำบล หรือเทศบาลทราบโดยด่วนเพื่อดำเนินการควบคุมโรคไม่ให้แพร่ไปที่อื่นและติดตามคนที่ถูกสุนัขตัวดังกล่าวกัด ข่วน มารับการฉีดวัคซีน

7.      ถ้าพบคนที่ถูกสุนัขควรแนะนำให้รีบล้างแผล ใส่ยา และไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโดยเร็ว

กรณีควรระวังอื่นๆ

ในฤดูร้อนนี้ อากาศจะร้อนและอาจแห้งแล้ง การเก็บ กักน้ำไว้เพื่อบริโภค อุปโภค ต้องปิดภาชนะใส่น้ำให้มิดชิด ป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย ซึ่งเป็นสาเหตุของไข้เลือดออกได้