Background



เกร็ดความรู้สู้โรค
โรคตาจากจอคอมพิวเตอร์
12 กุมภาพันธ์ 2557

662


 ปัจจุบัน คอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวัน ทั้งที่ทำงานและที่บ้าน ทั้งเพื่อประโยชน์ในการทำงาน อำนวยความสะดวก รวมถึงเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน อย่างไรก็ตามการใช้คอมพิวเตอร์อาจมีผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์ โดยเฉพาะสุขภาพทางตาที่เรียกว่า โรคตาจากจอคอมพิวเตอร์ (CVS หรือ Computer Vision Syndrome)  

          คือกลุ่มอาการทางตาที่ประกอบไปด้วยอาการปวดตา แสบเคืองตา เมื่อยตา น้ำตาไหล ตาแดง ตามัวมองเห็นภาพซ้อนหรือมองเห็นภาพไม่ชัด ภายหลังจากการใช้จอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน นอกจากนี้การใช้ Computer อาจทำให้เกิดปัญหาทางระบบกล้ามเนื้อเนื่องจากลักษณะ ท่านั่งในการใช้งาน เช่นการปวดต้นคอ ปวดข้อมือ ปวดหลัง ซึ่งจะไม่ได้กล่าวอย่างละเอียดในที่นี้

          พบอุบัติการณ์ของกลุ่มอาการนี้มากถึง 70-80% ของจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั้งหมด จักษุแพทย์มักเป็นผู้ที่ต้องให้การวินิจฉัยโรคนี้ ซึ่ง ผู้ป่วยมักมีอาการต่างๆที่กล่าวมาแล้วนั้น แต่อาการอาจแสดงไม่ชัดเจนนัก บางรายอาจมีเพียงอาการอ่อนเพลียเหนื่อยล้าอย่างเรื้อรังคล้ายความผิดปกติ ที่เกิดจากความเครียด ดังนั้นท่านผู้อ่านอาจพิจารณา จากอาการดังกล่าว ร่วมกับถามตัวเองว่าท่านใช้คอมพิวเตอร์บ่อยมากน้อยเพียงใด ซึ่งผู้ที่อยู่ในกลุ่มอาการนี้มักจะพบว่ามีการใช้คอมพิวเตอร์มากกว่า 2 ชั่วโมงอย่างต่อเนื่องต่อวันเป็นประจำ แต่อย่างไรก็ตามก่อนที่จะให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ จักษุแพทย์คงต้องหาสาเหตุอื่นๆที่ทำให้เกิดอาการล้าในตา ปวดตา ไม่สบายตา รวมทั้งปวดคอ ไหล่ และหลังก่อน

ปัจจุบันมีผู้มีปัญหาโรคตาจากจอคอมพิวเตอร์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยแบ่งเป็นกลุ่มอาการใหญ่ๆ ดังนี้

1.ปัญหาปวดตาหรือเมื่อยตา (Eye Strain, Tired Eye) เกิดจากการเพ่งใช้สายตาติดต่อกันอย่างยาวนาน ทำให้มีอาการเมื่อยล้าจากการใช้สายตา โดยปรกติการอ่านจาก Computer Monitor เราต้องเพ่งมากกว่าปกติเนื่องจาก ตัวหนังสือเกิดขึ้นเกิดจากจุดหลายจุดมาต่อกัน ไม่เหมือนกับการอ่านตัวหนังสือที่พิมพ์บนกระดาษซึ่งจะชัดเจนมากกว่า ข้อแนะนำคือ ควรมีการหยุดพักสายตาเป็นระยะ โดยทุกๆ 20 ถึง 30 นาที ให้พักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ โดย มองไปบริเวณพื้นที่กว้างหรือนอกหน้าต่างหรือหลับตา เพื่อลดการเพ่งของสายตาประมาณ ครึ่งถึง 1 นาที ก่อนกลับมาเริ่มทำงานกับจอคอมพิวเตอร์ต่อไป

          2.ปัญหาเคืองตา แสบตา (Ocular Surface Problems)ปกติตาคนเราจะมีน้ำตาเคลือบผิวอยู่ตลอดเวลาเป็นการหล่อเลี้ยงตา ช่วยในเรื่องการหักเหของแสงที่เข้าตาทำให้มองเห็นชัด แต่ถ้าเมื่อใดน้ำตาเคลือบผิวตาได้น้อยกว่าปกติก็จะเกิดอาการตาแห้ง มีอาการแสบตา เคืองตา ตาแดง มีตาพร่ามัวเป็นพักๆได้ ปัญหาเคืองตาจากการใช้คอมพิวเตอร์อาจเกิดจาก การที่เราใช้ตาดูจอคอมพิวเตอร์นานๆ เรามักจะจ้องอย่างต่อเนื่องเป็นผลให้การกระพริบตาลดน้อยลงอย่างมากถึง 66 % เมื่อเทียบกับปกติ จากการที่มีสมาธิอย่างมาก รวมทั้งมีระยะการกลอกตาค่อนข้างจำกัด ผลก็คือทำให้เกิดน้ำตาระเหยออกไปมาก ก่อให้เกิดปัญหาตาแห้งตามมา ซึ่งก็เป็นตัวก่อให้เกิดอาการไม่สบายตา เมื่อยล้า ตาสู้แสงไม่ได้ นอกจากนี้อาการเหล่านี้ยังเป็นผลมาจากแสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์ รวมทั้งแสงสว่างที่ไม่เหมาะสม ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ซึ่งควรมีการกระพริบตาประมาณ 10 - 15 ครั้งต่อนาทีเพื่อป้องกันภาวะตาแห้ง หรือเมื่อรู้สึกเคืองตา แสบตา ให้หลับตาพัก 3-5 วินาที เพื่อให้น้ำหล่อเลี้ยงลูกตาจากเปลือกตาบนด้านในมาฉาบให้ความชุ่มชื้นต่อลูก ตา แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องใช้ยาหยอดตาชนิดน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาเทียมเพื่อบรรเทาปัญหาดัง กล่าวได้

          3.ปัญหาตามัว ( Blurred Vision) เป็นปัญหาที่มักพบในผู้ที่มีการใช้คอมพิวเตอร์มากเกินไป โดยทั่วไปมักไม่ได้มีผลต่อเสียต่อสายตาอย่างถาวร แต่การใช้สายตาเพ่งเกมหรือคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการปวดเมื่อยตา ศีรษะ และทำให้มีการเพ่งตาค้าง เกิดภาวะคล้ายสายตาสั้น คือมองไกลไม่ชัด แต่มักเป็นอยู่เพียงชั่วคราวก็จะกลับสู่ภาวะปกติ ดังนั้นแม้ว่าการเล่นเกมหรือเพ่งมากๆจะไม่ทำให้สายตาสั้นอย่างถาวร แต่ก็ควรใช้แต่พอเหมาะ เพื่อสุขภาพของตา

          4.ปัญหามองเห็นภาพซ้อน (Double Vision) เมื่อใช้งานเป็นเวลานานมากๆ เฉลี่ยมากกว่า 3.5 ชั่วโมง อาจเกิดการเพ่งมากจนกล้ามเนื้อตาอ่อนล้า จึงพบอาการมองเห็นเป็นภาพซ้อนได้ ซึ่งมักดีขึ้นหลังจากได้พักสายตา

วิธีแก้ปัญหาอาการ Computer Vision Syndrome มีดังนี้

 

 1. การจัดสิ่งแวดล้อม ได้แก่การจัดวางโต๊ะคอมพิวเตอร์ให้จอคอมพิวเตอร์อยู่ในระยะที่ห่างจากลูกตา ประมาณ 20 – 24 นิ้ว วางในระดับที่ต่ำกว่าระดับตาประมาณ 10 – 20 องศาเพื่อจะได้ไม่ต้องเหลือบตาขึ้นสูง ความสว่างของห้องต้องเพียงพอ อย่าใช้คอมพิวเตอร์ในห้องที่มืด ความสว่างในห้องหรือบริเวณโดยรอบจอคอมพิวเตอร์ต้องใกล้เคียงกัน แสงไฟไม่ควรส่องมาจากทางด้านหลังจอคอมพิวเตอร์ และที่สำคัญห้ามส่องตรงเข้าหาจอคอมพิวเตอร์เพราะจะทำให้เกิดแสงแตกกระจาย ผู้ที่จ้องมองจอเป็นเวลานานๆจะเกิดอาการแสบตาและปวดล้าในที่สุด นอกจากนี้ยังอาจใช้แผ่นกรองแสง (Anti-reflection screen filter) ที่มีขายตามท้องตลาดวางด้านหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยลดแสงสะท้อนและแสง ที่แตกกระจายด้วย เป็นต้น

          2. การควบคุมรวมทั้งการใช้งานจอคอมพิวเตอร์ ได้แก่ ความสว่างของหน้าจอคอมพิวเตอร์ ควรจะปรับให้สว่างเท่าๆกับความสว่างของห้อง ส่วนการแยกความแตกต่าง(Contrast) ของหน้าจอซึ่งเราสามารถปรับที่จอคอมพิวเตอร์ได้นั้นควรจะปรับให้สูงสุดเท่า ที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ยังรู้สึกสบายตา ขนาดของตัวหนังสือควรจะมีขนาดประมาณ 3 เท่าของขนาดตัวหนังสือที่เล็กที่สุดที่ท่านยังสามารถอ่านได้จากจอ คอมพิวเตอร์ในระยะเดียวกัน ส่วนสีของตัวหนังสือควรเป็นสีดำบนพื้นสีขาวจะเหมาะสมที่สุด นอกจากนั้นควรวางกระดาษหรือหนังสือที่จะต้องดูให้อยู่ในแนวเดียวกับจอ คอมพิวเตอร์ ซึ่งปัจจุบันจะมีการใช้ตัวยึดด้านข้างจอคอมพิวเตอร์ที่สามารถหนีบกระดาษ หรือหนังสือที่ต้องดู เพื่อจะได้ไม่ต้องก้มๆเงยๆมองระหว่างจอคอมพิวเตอร์กับหนังสือหรือกระดาษที่ จะต้องดูเป็นต้น

          3.การแก้ปัญหาทางตา เมื่อเราทราบแล้วว่าการใช้คอมพิวเตอร์แล้วทำให้การกระพริบตาลดน้อยลง ดังนั้นควรตระหนักในข้อนี้เสมอ บอกตนเองให้มีนิสัยในการกระพริบตาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก นอกจากนี้ผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นประจำก็จะต้องปรับนิสัยตัวเองให้มีการ คลายกล้ามเนื้อที่ใช้ในการมองใกล้ โดยบังคับให้มองไปในที่ไกลๆนานประมาณ 1-2 นาทีเช่นการมองออกไปนอกหน้าต่างเป็นครั้งคราวหรืออย่างน้อย 1-2 ครั้งทุกชั่วโมง หรือให้มีการหยุดพักการทำงานทุกชั่วโมงประมาณ 5-15 นาที เป็นต้น การใช้น้ำตาเทียมหยอดตาก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหาตาแห้งได้ แนะนำให้ใช้ได้เมื่อรู้สึกเมื่อยล้า แสบตาหรือตาแห้งเป็นครั้งคราว

          4.ในผู้ที่อายุเริ่มมีสายตายาวตามอายุ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งจะพบอาการจากการใช้ Computer ได้มากกว่าในกลุ่มอายุน้อย ควรใส่แว่นแก้ไขสายตาที่เหมาะสม ในวัยนี้โดยปกติจะมีแว่นตาที่ใช้ในการมองที่ใกล้หรือแว่นตา 2 ชั้นซึ่งมีครึ่งบนไว้มองไกลส่วนครึ่งล่างสำหรับมองใกล้ บางรายอาจมีปัญหาในการมอง Computer เนื่องจากระยะที่ไว้มองใกล้เพื่ออ่านหนังสือนั้นอยู่ใกล้เกินไป ทำให้มองในระยะ Computer ซึ่งห่างจากตาออกมาอีกระดับหนึ่งไม่ชัดเท่าการอ่านหนังสือ การเปลี่ยนมาเป็น Progressive lens ซึ่งมีช่วงการมองหรือจุดโฟกัสหลายระดับโดยเฉพาะที่สำคัญคือระยะ กลาง(Intermediate Zone) ซึ่งเป็นตำแหน่งของจอคอมพิวเตอร์ จะทำให้เห็นได้สบายตาในทุกระยะซึ่งจะมีประโยชน์มาก หรือในบางรายที่ใช้ Computer มากๆอาจมีแว่นที่ใช้สำหรับมอง Computer โดยเฉพาะอีกแว่นหนึ่ง นอกจากนี้หากใช้แว่นตาก็ควรจะเคลือบสารที่ป้องกันการสะท้อน(Anti-Reflective Coat) จะช่วยลดการสะท้อนของแสงเข้าตาได้อีกระดับหนึ่ง

          5.การแก้ปัญหาปวดคอ ปวดไหล่และปวดหลัง นอก จากจะจัดระดับจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมดังกล่าวแล้ว ท่านั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ก็มีความสำคัญ ควรจะต้องนั่งตัวตรง หลังเอนไปด้านหลังเล็กน้อย แขนทั้งสองในขณะกดแป้นพิมพ์ให้อยู่ในแนวขนานกับพื้น ส่วนเท้าควรวางราบกับพื้น

ที่มา 
http://www.rsuhealth.com/th/
http://snappy.bloggoo.com/2008/01/01/computer-vision-syndrome-cvs/
http://guru.sanook.com/pedia/pedia_layout.php?page_id=21861