319
เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คาร์สเตน โนห์ล กับ จาคอบ เลลล์ นักวิจัยด้านความปลอดภัยในระบบคอมพิวเตอร์จากเอสอาร์ แล็บ ประกาศว่า ค้นพบ "ช่องโหว่" อันตรายมหันต์ในเฟิร์มแวร์ของยูเอสบี ที่เรียกกันว่า "ยูเอสบี ไมโคร คอนโทรลเลอร์" พวกเขาเรียกช่องโหว่นั้นว่า "แบดยูเอสบี" เนื่องจากมันสามารถเปลี่ยน "แฟลชไดรฟ์" ธรรมดาๆ ที่เราใช้กันอยู่ให้กลายเป็น "อาวุธไซเบอร์" ได้อย่างง่ายดาย
ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ โค้ดหรือชุดรหัสคอมพิวเตอร์ที่มีวัตถุประสงค์ร้ายนี้ ตรวจหาไม่พบ ไม่ว่าจะใช้แอนตี้ไวรัสที่ทันสมัยแค่ไหน เพราะมันถูกเขียนขึ้นไว้ในส่วนที่เป็นเฟิร์มแวร์ของยูเอสบี ซึ่งถูกกันแยกไว้ต่างหากจากส่วนที่เป็นหน่วยความจำสำหรับเก็บข้อมูล
มือมืดผู้ประสงค์ร้ายสามารถใช้ช่องโหว่ดังกล่าวเจาะเข้าไปแล้วเขียนโค้ดแทรกเอาไว้ในโค้ดของไมโคร คอนโทรลเลอร์ โค้ดที่ว่านี้จะเปลี่ยนยูเอสบีแฟลชไดรฟ์ธรรมดาๆ ตัวหนึ่ง ให้กลายเป็นอาวุธร้ายของแฮกเกอร์ไปได้หลากหลายวิธี อย่างเช่น เปลี่ยนมันให้กลายเป็นเน็ตเวิร์ก การ์ด ที่ทำให้ผู้ประสงค์ร้ายสามารถควบคุมคอมพิวเตอร์ของเราได้จากระยะไกล ให้ทำอย่างหนึ่งอย่างใด หรือดูข้อมูลอะไรก็ตามในคอมพิวเตอร์ของเราได้ โดยที่ผู้เป็นเจ้าของไม่รู้เนื้อรู้ตัว หรือเเทรกโค้ดที่เป็นมัลแวร์เข้าไป ดักจับความเคลื่อนไหวในการเคาะคีย์บอร์ดทุกครั้งของเรา ส่งไปให้แฮกเกอร์ ตรวจหาพาสเวิร์ดหรือข้อมูลบัตรเครดิต และอื่นๆ ที่ต้องการ
ที่น่ากลัวมากขึ้นไปอีกก็คือ โดยหลักการแล้ว "แบดยูเอสบี" สามารถถูกเขียนโปรแกรมให้กระโดดจากยูเอสบีแฟลชไดรฟ์ ตัวแรกเข้าไปอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ แล้วจากนั้นก็กระโดดกลับเข้าไปอยู่ในแฟลชไดรฟ์ตัวใหม่ หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่ต้องใช้พอร์ต ยูเอสบี (อาทิ เมโมรีการ์ด หรือเอ็กซ์เทอร์นอล ฮาร์ดดิสก์) เพื่อแพร่ระบาดไปไม่รู้จักจบสิ้น
"แบดยูเอสบี" แก้ไม่ได้ด้วยการออกแพทช์ หรือโปรแกรมเสริมเพื่อการป้องกัน แบบที่ทำกันอยู่เมื่อเจอมัลแวร์ใหม่ๆ ทางแก้ที่มีประสิทธิภาพที่สุดก็คือ แก้ระบบการใช้ยูเอสบี ที่แทบจะเป็นการสร้างมาตรฐานยูเอสบีขึ้นมาใหม่ ซึ่งอาจกินเวลานานเป็นปีๆ เลยทีเดียว
นักวิจัยทั้ง 2 ไม่ยอมเปิดเผยโค้ด "แบดยูเอสบี" นี้ในตอนนั้น เพราะต้องการให้เวลาให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องได้หาทางแก้เรื่องนี้ แต่หลังสุดเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ที่งาน ดาร์บีคอน อดัม คอดิลล์ กับ แบรนดอน วิลสัน 2 นักวิจัย นอกจากจะนำเสนอเรื่องนี้ พร้อมสาธิตวิธีใช้งานอย่างเป็นงานเป็นการแล้ว ยังเผยแพร่โค้ดของแบดยูเอสบีนี้ผ่านเว็บไซต์แห่งหนึ่ง ให้นำไปใช้กันอีกด้วย
นักวิจัยทั้ง 2 บอกว่า เรื่องนี้ต้องแก้กันในระดับอุตสาหกรรมผู้ผลิตยูเอสบีทั้งหมด ถ้าไม่กดดันด้วยการทำให้ดูว่ามันเป็นไปได้จริง ก็ไม่มีใครขยับกันเสียที
ผู้ใช้อย่างเราๆ ก็ต้องเสี่ยงดวงกันต่อไปว่าจะเจอแจ็กพ็อตเข้าเมื่อไหร่ ทางป้องกันเท่าที่จะทำได้ในยามนี้ก็คือ เลิกใช้แฟลชไดรฟ์แปลกหน้าไปพลางๆ
"แบดยูเอสบี" ทำให้แฟลชไดรฟ์ฟรีที่แจกกันตรึมก่อนหน้านี้ กลายเป็นมหันตภัยไปแล้ว!
ขอขอบคุณข้อมูล ดี ๆ จาก Sanook.com
ภาพโดย